ผลชันสูตรเบื้องต้น "วาฬเบลนวิลล์" สัตว์ทะเลหายาก เศร้ายื้อชีวิตไว้ไม่ไหว
เปิดผลชันสูตรเบื้องต้น วาฬเบลนวิลล์ สัตว์ทะเลหายาก หลังเกยตื้นที่หาดสะกอม จ.สงขลา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้
จากกรณีที่ก่อนหน้านี้หลายคนต่างส่งกำลังใจให้ "วาฬเบลนวิลล์" ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก หลังพบว่า วาฬเบลนวิลล์เกยตื้น บริเวณหาดสะกอม ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือทันที ก่อนจะพบว่า วาฬเบลนวิลล์ (Blainville's beaked Whale) ตัวนี้มีขนาดความยาวลำตัว 4 เมตร สภาพร่างกายค่อนข้างผอม ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าเขาปะช้างได้ทำการผลักดันออกไปในทะเล 3 ครั้ง แต่โดนคลื่นซัดกลับมาเกยตื้นซ้ำที่บริเวณใกล้เคียงเหมือนเดิม
ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์หายาก พร้อมสัตวแพทย์ได้ทำการให้ยาซึมก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายมาบริเวณร่องน้ำด้านใน หลังจากนั้นได้ทำการให้ยาลดการอักเสบ ยาฆ่าเชื้อ และให้น้ำเกลือ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำส่งตรวจ ซึ่งการติดตามอาการวันที่ 3 ธ.ค. 2566 ทั้งวันพบว่ายังมีอาการคงที่ จึงได้ให้อาหารเหลว และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป
ก่อนที่ต่อมาทางด้านเพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รายงานความคืบหน้าการช่วยชีวิตวาฬเบลนวิลล์เกยตื้น โดยระบุว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (ศวทล.) ขอส่งรายงานความคืบหน้าการช่วยชีวิตวาฬเบลนวิลล์ประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2566 โดยเจ้าหน้าที่พบว่าวาฬมีอาการชัก เมื่อเวลา 07:20 น. จึงได้ทำการกู้ชีพแต่ไม่ประสบความสำเร็จ วาฬได้ตายเวลาประมาณ 08:07 น.
ทั้งนี้ จากการชันสูตรพบรอยที่เกิดจากฉลามคุกกี้คัตเตอร์ทั่วลำตัว รอยแผลคล้ายรอยอวนรัดที่บริเวณปากล่างและครีบหลัง กล้ามเนื้อบริเวณหลังฝ่อลีบ เนื่องจากวาฬขาดอาหาร พบเลือดออกที่บริเวณโหนกหัว ปอดพบก้อนหนองขนาดเล็กกระจายอยู่ พบฟองอากาศขนาดเล็กอยู่ที่บริเวณหลอดลมฝอยในปอดทั้งสองข้าง ต่อมน้ำเหลืองขยายขนาดทั่วร่างกาย ไม่พบอาหารตลอดความยาวของทางเดินอาหาร
อีกทั้งยังพบขยะที่บริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ส่วนไพโลริก พบแผลที่เกิดจากกรดไหลย้อนบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร พบกระเพาะอาหารอักเสบ และมีแผลหลุมที่บริเวณกระเพาะอาหารหลัก ตับมีขนาดเล็กกว่าปกติ ไตซ้ายมีขนาดเล็กกว่าไตขวาอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุการตายเบื้องต้นเกิดจากการป่วยเป็นระยะเวลานาน ทำให้วาฬมีภาวะขาดอาหารและน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดอย่างรุนแรง นอกจากนี้ได้มีการส่งตัวอย่างชิ้นเนื้อ และตัวอย่างเพาะเชื้ออื่นๆ เพื่อยืนยันสาเหตุการตายที่แน่ชัดต่อไป
ขอบคุณภาพจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง