ด่วน! วันที่ 25-30 พ.ย. นี้ 10 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
ประกาศด่วน! ในช่วงวันที่ 25-30 พ.ย. 2566 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือน 10 จังหวัด เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำล้นอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด...
ล่าสุด วันที่ 23 พ.ย. 2566 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 5/2566 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 แจ้งว่ามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ในช่วงวันที่ 25-30 พฤศจิกายน 2566
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ในช่วงวันที่ 25-30 พฤศจิกายน 2566
1. พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 5 จังหวัด ได้แก่
- พัทลุง (อ.เมืองฯ กงหรา เขาชัยสน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน)
- สงขลา (อ.เมืองฯ กระแสสินธุ์ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร จะนะ ควนเนียง หาดใหญ่ เทพา นาทวี นาหม่อม บางกล่ำ รัตภูมิ สะบ้าย้อย)
- ปัตตานี (อ.เมืองฯ กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ แม่ลาน ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก)
- ยะลา (อ.เมืองฯ รามัน) และนราธิวาส (อ.เมืองฯ จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร สุคิริน สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี)
2. พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติน้ำไหลเข้าอ่างมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา
3. พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และตรัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ และเตรียมพร้อมอพยพหากสถานการณ์มีความรุนแรง
นอกจากนี้ ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับการบริหารน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำและน้ำในลำน้ำให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสัมพันธ์กับการขึ้น-ลงของน้ำทะเล โดยเร่งระบายและพร่องน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการให้พร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข้อมูลระดับน้ำ สถานการณ์ ประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้