ลูกช้างป่าหลงฝูง ไร้วี่แววโขลงมารับ ต้องรีบย้ายด่วนหลังเจอรอยเท้าเสือ

11 พฤศจิกายน 2566
430

ลูกช้างป่าหลงฝูงที่อุทยานแห่งชาติทับลาน หลังเฝ้ารอให้โขลงช้างกลับมารับ ล่าสุดคาดว่าจะไม่กลับมาแล้ว เร่งย้ายไปที่ปลอดภัยเพื่อรักษาและดูแล

อัปเดตล่าสุดลูกช้างป่าหลงฝูงที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยเมื่อวันที่ 10 เพจเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park ได้เผยความคืบหน้ากรณีลูกช้างป่าหลงฝูง ต้องรีบย้ายลูกช้างเนื่องจากพบรอยเท้าเสืออยู่ใกล้บริเวณที่ลูกช้างอยู่ และพบว่าร่องรอยโขลงช้างได้ย้ายห่างไปไกล คาดว่าจะไม่กลับมาแล้ว โดยระบุว่า

ลูกช้างป่าหลงฝูง ไร้วี่แววโขลงกลับมารับ ต้องรีบย้ายเพราะเจอรอยเท้าเสือ

  ย้ายลูกช้างทับลานจากคอกพักชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย ด้านร่างกายพบการบาดเจ็บ เบื้องต้นสัตวแพทย์ดูแลให้แข็งแรงก่อนวางแผนตามขั้นตอนต่อไป

อุทยานแห่งชาติทับลาน รายงานผลการตรวจรักษาลูกช้างป่า เพศผู้ ที่พบบริเวณท้องที่บ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา จากนายสัตวแพทย์ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ดังนี้ 

ลูกช้างป่าหลงฝูง ไร้วี่แววโขลงกลับมารับ ต้องรีบย้ายเพราะเจอรอยเท้าเสือ

สภาพร่างกายภายนอกพบแผลถลอกตามร่างกายแห้งขึ้น ไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ สะดือที่ยังไม่ปิดสนิท มีขนาดโพรงแคบลงเล็กน้อย ยังมีเนื้อเยื่อสร้างหนองด้านในปริมาณเล็กน้อย ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีหนอนแมลงวัน สัตวแพทย์ทำการล้างสะดือ ขัดหนองออก ใส่ยาฆ่าเชื้อ โรยผงกันหนอนบริเวณสะดือ

การกินนม ลูกช้างมีความอยากกินนม ดูดกินนมจากขวดเองได้ ปริมาณการกินนมเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เสริมวิตามินซี แคลเซียมแบบเม็ดให้กิน สามารถกินได้ตามแผนที่วางไว้ การขับถ่ายอุจจาระ เป็นครีมเหลวสีเขียวอ่อน จำนวน 2 ครั้ง (ข้อมูลตั้งแต่เช้ามืดถึงเย็น)

 

ลูกช้างมีอาการเจ็บขาหลังขวา โดยสามารถใช้ขาข้างที่เจ็บแตะพื้นได้บ้าง แสดงอาการเจ็บขาและร้องเมื่อมีการเปลี่ยนท่าจากยืนเป็นนอน และจากท่านอนเป็นยืน เมื่อมีการย่อตัว เดินช้าลง เดินน้อยลงจากเดิม ทำการนวดประคบร้อนและเย็นบริเวณขาที่บวม

ลูกช้างป่าหลงฝูง ไร้วี่แววโขลงกลับมารับ ต้องรีบย้ายเพราะเจอรอยเท้าเสือ

เนื่องจากฝูงช้างเป้าหมายมีทิศทางการเคลื่อนที่ออกห่างจากจุดพบลูกช้างระยะทางไกลมากขึ้น ประกอบกับลูกช้างมีสภาพร่างกายที่บาดเจ็บขาหลังขวา และมีข้อมูลการพบรอยตีนเสือโคร่งในพื้นที่ใกล้เคียงคอกพักชั่วคราวของลูกช้าง จึงประเมินว่าควรเคลื่อนย้ายลูกช้างไปดูแลที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ทล.8 (ตลิ่งชัน) เนื่องจากเป็นหน่วยที่มีระยะทางใกล้จุดที่พบมากที่สุด (ยังไม่เหมาะสมที่จะเดินทางไกล) 

ภายหลังจากการดูแลรักษาจนลูกช้างมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว จะได้วางแผนดำเนินการในขั้นต่อไป

ลูกช้างป่าหลงฝูง ไร้วี่แววโขลงกลับมารับ ต้องรีบย้ายเพราะเจอรอยเท้าเสือ

ล่าสุดวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ทางประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ความคืบหน้าหลังย้ายลูกช้างป่าไปยังที่พักแห่งใหม่เพื่อความปลอดภัยและรักษาอาการบาดเจ็บ และเป็นเพราะฝูงช้างไปไกลจากจุดที่พบคาดว่าไม่ย้อนกลับมารับลูกช้างน้อยเข้าฝูงแล้ว ระบุว่า

คืบหน้า...การดูแลลูกช้างป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่ากระบกคู่ เทศบาลตำบลจระเข้หิน องค์การบริหารส่วนตำบลจระเข้หิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพลูกช้างป่าที่ผลัดหลง พร้อมทั้งป้อนนมและเกลือแร่ เพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อเคลื่อนย้ายลูกช้างป่ามาอนุบาลบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 08 (ตลิ่งชัน)

ลูกช้างป่าหลงฝูง ไร้วี่แววโขลงกลับมารับ ต้องรีบย้ายเพราะเจอรอยเท้าเสือ

ต่อมาคณะเจ้าหน้าที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าในเวลา 14.50 น. ด้วยการนำลูกช้างป่าใส่กล่องเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า และนำลงเรือเพื่อป้องกันอาการเครียดของลูกช้างป่า และนำขึ้นรถยนต์มาถึงในบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 08 (ตลิ่งชัน) ในเวลา 16.10 น. การเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าในครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยดี

คณะเจ้าหน้าที่เขตการจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 5 (ภูลำใย) ได้จัดเตรียมคอกชั่วคราวเพื่อทำการอนุบาลลูกช้างป่าที่ผลัดหลง ในพื้นที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 08 (ตลิ่งชัน) เพื่อทำการอนุบาลลูกช้างป่าในเบื้องต้น จนกว่าจะมีแนวทางดำเนินการต่อไป

ลูกช้างป่าหลงฝูง ไร้วี่แววโขลงกลับมารับ ต้องรีบย้ายเพราะเจอรอยเท้าเสือ

นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่ากระบกคู่ ได้ทำการประคบเพื่อลดอาการบวมในบริเวณขาหลังด้านขวาของลูกช้างป่าที่ผลัดหลง เพื่อบรรเทาอาการบวม และทำการเอกซเรย์ (X-ray) ในบริเวณขาหลังด้านขวา ผลยังไม่แน่ชัดเนื่องจากยังเด็กเกินไปและได้ทำการฉีดยาเพื่อลดอาการปวดลดอักเสบแล้ว โดยทีมสัตวแพทย์จะดำเนินการดูแลและรักษาจนหายเป็นปกติ

อาการของลูกช้างป่าโดยรวมปกติดี มีอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแต่ยังมีความอยากอาหารดี ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติทับลานจะดำเนินการอนุบาลร่วมกับนายสัตวแพทย์จนกว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการต่อไป

 

ขอบคุณ อุทยานแห่งชาติทับลาน และ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช