"พายุแดเนียล" พัดถล่มลิเบีย น้ำท่วม - เขื่อนแตก อาจเสียชีวิต 2,000 ราย
พายุแดเนียล พัดถล่มลิเบีย ทำน้ำท่วม - เขื่อนแตก ซัดกลืนหลายหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่คาด อาจเสียชีวิต 2,000 ราย สูญหายอีก 6,000 คน
"พายุแดเนียล" พัดถล่มลิเบีย น้ำท่วม - เขื่อนแตก อาจเสียชีวิต 2,000 ราย : ภัยพิบัติทางธรรมชาติยังถล่มโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุดมีรายงานว่า ฝนตกหนักจากพายุ "แดเนียล" พัดถล่มภาคตะวันออกของลิเบีย ทำให้น้ำท่วมฉับพลันและเขื่อนแตก กระแสน้ำซัดกลืนหลายหมู่บ้านในหลายเมืองแถบชายฝั่ง ทำให้วิตกว่าอาจจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย
โดย กองทัพในภาคตะวันออกของลิเบีย แถลงในวันจันทร์ (11 สิงหาคม) ว่า เมืองเดอร์นา ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากน้ำท่วม หลังพายุแดเนียล พัดขึ้นฝั่งเมื่อวันอาทิตย์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย และมีผู้สูญหายราว 5,000-6,000 ราย โดยเป็นผลจากเขื่อนอายุเก่าแก่ 2 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียงพังถล่ม ทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างฉับพลัน และกระแสน้ำซัดบ้านเรือนทั้งหมู่บ้านพังราบ
ขณะที่สื่อต่างชาติ รายงานว่า ตัวเลขดังกล่าวยังไม่อาจยืนยันได้ และโฆษกกองทัพไม่ระบุแหล่งที่มาของข้อมูล ส่วนหัวหน้ากาชาดเสี้ยววงเดือดแดงในเมืองเบงกาซี ยืนยันว่า "พายุแดเนียล" ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 150 รายในเมืองเดอร์นา หลังจากระดับน้ำในเมืองสูงถึง 3 เมตร
ผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า เขื่อนแตกทำให้มวลน้ำมากกว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตรทะลักเข้าท่วมเมืองเดอร์นาที่ล้อมรอบด้วยภูเขาอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายหมู่บ้านพังย่อยยับ
นอกจากนี้พายุฝนยังทำให้เมืองอัล-มูลไคลี กลายเป็นทะเลโคลน และถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองซูซาและเมืองชาฮัต ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานไซรีน ที่เป็นแหล่งมรดกโลกถูกตัดขาด และยังมีรายงานผู้เสียชีวิตในหลายเมืองรวมอีกหลายสิบราย
ฝนตกหนักครั้งนี้เกิดจากอิทธิพลจากความกดอากาศต่ำที่หลงเหลืออยู่จากพายุ “แดเนียล” หลังจากพายุลูกนี้ทำให้น้ำท่วมรุนแรงในกรีซเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนเคลื่อนตัวสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน
ขณะที่ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยเป็นความท้าทายเพราะลิเบียยังคงมีความแตกแยก โดยมี 2 รัฐบาลที่แย่งชิงอำนาจกันนับจากปี 2557 หลังการโค่นล้มผู้นำเผด็จการโมอัมมาร์ กัดดาฟี ในปี 2554 ฝ่ายหนึ่งครอบครองพื้นที่ฝั่งตะวันออก อีกฝ่ายควบคุมพื้นที่ฝั่งตะวันตก และแต่ละฝ่ายได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังติดอาวุธ และรัฐบาลต่างชาติ
ฝ่ายรัฐบาลในภาคตะวันออกของลิเบีย ประกาศให้พื้นที่ 3 จุดของจังหวัดไซเรไนกา ทางภาคตะวันออกเป็นเขตภัยพิบัติ รวมทั้งประกาศให้มีการไว้อาลัยทั่วพื้นที่ประสบภัยนาน 3 วัน รวมทั้งประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งปิดโรงเรียนและร้านค้า และบังคับใช้เคอร์ฟิว รวมทั้งประกาศร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศเสนอให้ความช่วยเหลือแล้ว และตุรกีเตรียมส่งทีมค้นหากู้ภัย 150 คน พร้อมด้วยเตนท์ รถกู้ภัย และอุปกรณ์จำเป็น เช่น เครื่องปั่นไฟ ไปช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย