เตือนระวัง"เห็ดป่า" ช่วงฤดูฝนอาจเป็น "เห็ดพิษ" เสี่ยงรับประทานอาจถึงชีวิต
เมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าฝน ฤดูแห่งการเก็บหาเห็ดป่าแหล่งอาหารที่แสนอร่อยและอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการก็มาถึงอีกครั้ง
ในป่าธรรมชาติสามารถพบเห็ดได้หลากหลายชนิด มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช โดยกลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ มีข้อแนะนำในการเก็บหาเห็ดป่าเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่มของเห็ดระโงกหรือเห็ดไข่ อยู่ในสกุล Amanita ที่มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ เห็ดระโงกได้รับความนิยมในการเก็บหา
เป็นอย่างมากและเสี่ยงต่อการสับสนกับเห็ดพิษมากด้วยเช่นกัน เห็ดในสกุลนี้เมื่ออยู่ในระยะดอกอ่อน
จะมีลักษณะคล้ายไข่ มีความคล้ายคลึงกันมากในเห็ดระโงกแต่ละชนิด โดยไม่สามารถแยกด้วยตาเปล่าได้
ชนิดของเห็ดพิษในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
. กลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ เช่น เห็ดระโงกหิน
. กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เช่น เห็ดเหลืองนกขมิ้น
. กลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดหัวกรวดครีบเขียว
อย่างไรก็ตามการจัดจำแนกชนิดเห็ดต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานเห็ด ซึ่งจะต้องมีการศึกษา
ด้านสัณฐานวิทยา โครงสร้าง และอณูชีววิทยา หรือ ชีววิทยาระดับโมเลกุล ดังนั้นการป้องกันอันตราย
จากการกินเห็ดที่มีพิษที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการกินเห็ดที่ไม่แน่ใจ และไม่รู้จัก
ที่มา : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช