WHO เปิดข้อมูลสำคัญ เกี่ยวกับ วัคซีนโควิด-19

20 พฤษภาคม 2566
114

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ออกมา เปิดข้อมูล ความรู้สำคัญเรื่องวัคซีนโควิด-1 จาก WHO 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า 

ความรู้สำคัญเรื่องวัคซีนจาก WHO

องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์เกี่ยวกับวัคซีนโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

สาระสำคัญที่เราควรรู้มีดังนี้

  •  ปัจจุบันประชากรโลกมีระดับภูมิคุ้มกันที่หลากหลายมาก เพราะมีทั้งจากที่ได้รับวัคซีนที่แตกต่างกันหลายประเภท และที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อน
  •  สายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้คือ Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1 (รวมทั้ง XBB.1.5, XBB.1.16, XBB.1.9) ในขณะที่ข้อมูลจากการสุ่มตรวจสายพันธุ์ไวรัส พบว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้านั้น คาดว่าไม่ได้มีการระบาดในคนแล้ว
  • ไวรัสตระกูล XBB นั้นมีสมรรถนะการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้สูงมาก โดย XBB.1.5 นั้นถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด
  • ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต่อไวรัส Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1 นั้นมีจำกัด และมีทั้งที่พบว่าได้ผลพอๆ กับ BA.5 และที่พบว่าประสิทธิผลลดลงกว่าตอน BA.5 ระบาด
  • ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด หรือแอนติบอดี้ ของคนที่ได้รับวัคซีน 2-4 เข็ม รวมถึงเข็มกระตุ้นจากวัคซีนสองสายพันธุ์ (Bivalent vaccine) นั้นพบว่า XBB.1 ดื้อต่อภูมิมากกว่าสมัย BA.5 ระบาด ในขณะที่คนที่เคยได้รับวัคซีน และเคยติดเชื้อมาก่อน จะมีระดับภูมิคุ้มกัน (Hybrid immunity) ที่สูงกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อ
  • ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการ มีรายงานพบปรากฏการณ์ Immune imprinting ซึ่งหมายถึงการที่ระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ ประเภท B-cells มีการจดจำแอนติเจนจากวัคซีนที่ใช้สายพันธุ์เดิม และอาจทำให้การตอบสนองต่อแอนติเจนไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลยืนยันผลกระทบทางคลินิกในชีวิตจริง
  • ข้อมูลที่ทางบริษัทวัคซีนแชร์ให้กับทางองค์การอนามัยโลก พบว่าการใช้วัคซีนใหม่ ที่ใช้แอนติเจนสายพันธุ์ไวรัส XBB.1 โดยตรง จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดได้สูงกว่าวัคซีนเดิมที่ใช้กันในปัจจุบัน

...ข้อสรุปจากทาง WHO นั้นแนะนำว่า ในอนาคตแต่ละประเทศควรพิจารณาใช้วัคซีนที่เป็นแบบสายพันธุ์เดียว (monovalent vaccine) ที่ปรับสายพันธุ์ให้ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด และไม่ควรใช้วัคซีนที่มีการบรรจุสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งเป็นรุ่นเก่าด้วยเหตุผลจากข้อมูลวิชาการต่างๆ ข้างต้น แม้ว่าวัคซีนรุ่นเดิมๆ จะยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ก็ตาม

...ทั้งนี้คำแนะนำข้างต้น คงเป็นข้อเสนอที่ท้าทายสำหรับแต่ละประเทศ ในการนำไปวางแผนจัดการระบบวัคซีนสำหรับประชาชนในระยะยาว

ทิศทางแนวโน้มเรื่องวัคซีนในอนาคตนั้น การฉีดปีละครั้ง และปรับตามสายพันธุ์ที่ระบาดหรือคาดการณ์ว่าจะระบาด คงมีความเป็นไปได้มากที่สุด

แต่ด้วยศักยภาพปัจจุบัน การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ยังไม่สามารถทำได้อย่างแม่นยำ การปรับวัคซีนให้ตามสายพันธุ์ไวรัสให้ทันจึงท้าทายอย่างยิ่ง

และที่ท้าทายยิ่งกว่าคือ การผลิต การจัดหา และจัดบริการ ให้ทันกับสถานการณ์ระบาด เพียงแค่สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ก็ทำให้ครอบคลุมได้ยากทีเดียว

ดังนั้น พฤติกรรมการป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับไทยเรา การระบาดยังมีมากภายในประเทศ สิ่งที่ทำได้คือ การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

Statement on the antigen composition of COVID-19 vaccines. WHO. 18 May 2023.

WHO เปิดข้อมูลสำคัญ เกี่ยวกับ วัคซีนโควิด-19