การไฟฟ้าฯ ชี้เเจงแล้วทำไมหน่วยค่าไฟเพิ่มขึ้น เช็คได้ที่นี่!
การไฟฟ้าฯ ชี้เเจงแล้วทำไมหน่วยค่าไฟเพิ่ม มีวิธีการคิดค่าไฟอย่างไร เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดกินไฟเท่าไหร่ รวมทั้งมาตรการลดค่าไฟจากภาครัฐ เช็คได้เลย!
การไฟฟ้าฯ ชี้เเจงแล้วทำไมหน่วยค่าไฟเพิ่มขึ้น เช็คได้ที่นี่!
ค่าไฟฟ้าแพง ในช่วงนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอากาศร้อน ทำให้ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบ่อยกว่าเดิม แน่นอนว่าอาจทำให้บิลค่าไฟฟ้าของคุณมีตัวเลขที่มากกว่าปกติ จนมีคำถามคาใจว่าทำไม "ค่าไฟฟ้าแพง" ลองมาดูว่าค่าไฟฟ้าแพงนั้นเกิดจากอะไร มีวิธีการคิดค่าไฟอย่างไร เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดกินไฟเท่าไหร่ รวมทั้งมาตรการลดค่าไฟจากภาครัฐ
เหตุผลค่าไฟฟ้าแพง
อันดับแรกต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าค่าไฟฟ้าแพงนั้นเกิดจากอะไร โดยการไฟฟ้าจะคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มาก ยิ่งต้องจ่ายมาก ซึ่งตัวแปรของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอากาศร้อนทำให้มีโอกาสใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทมากกว่าปกติ เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลม หรือตู้เย็น จึงทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นกว่าปกติ
บ้านที่มีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงส่วนมาก จะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าดังต่อไปนี้
1. แอร์ และคอมเพรสเซอร์
2. เครื่องฟอกอากาศ
3. พัดลมไอน้ำ
4. ตู้เย็น
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ชี้แจง กรณีประชาชนพบ “หน่วยไฟ” แม้จะมีการใช้งานไฟฟ้าเท่าเดิม ว่า สาเหตุหลักมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องทำความเย็นประเภทต่าง ๆ จะกินไฟเพิ่ม เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะใช้เท่าเดิมทั้งจำนวนชิ้น และ ระยะเวลาการเปิดใช้ เนื่องจากหลักการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ จะพยายามทำความเย็น หรือทำอุณภูมิให้เท่ากับที่เราตั้งค่าไว้
เมื่ออากาศร้อนขึ้น เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิให้เท่าเดิมนั่นเอง ส่งผลให้แอร์หรือตู้เย็นทำงานงานหนัก คอมฯทำความเย็นจะทำงานตลอดโดยไม่ตัดเลย ถึงใช้เวลาเท่าเดิมอย่างไรอัตราการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่ม
ดังนั้น หากเทียบบิลค่าไฟฟ้าง่าย ๆ โดยย้อนไปดูหน่วยการใช้ไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งขณะนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศจะอยู่ที่ 18-23 องศาเซลเซียส และ มาเดือนมีนาคม ที่บางวันอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไป 38-40 องศาเซลเซลเซียสต่างกันถึง 20 องศาเซลเซียส ซึ่งคำนวณตามสูตรของการไฟฟ้าฯ ที่ได้มีการทดสอบการทำงานของแอร์ 1 ตัว ขนาด 12,000 บีทียู เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราการกินไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 3%
การไฟฟ้านครหลวง ได้อธิบายเพิ่มเติม โดยยกตัวอย่างการทดสอบตั้งเครื่องปรับอากาศอุณภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง พบว่าจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.69 หน่วยต่อชั่วโมง แต่หากอุณหภูมิภายนอกห้องเพิ่ม 6 องศา เป็น 41 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง เครื่องปรับอากาศดังกล่าวจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.79 หน่วยต่อชั่วโมง หรือเครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 14%
ทั้งนี้ จากผลการทดสอบดังกล่าว หากคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าในอัตราเฉลี่ยหน่วยละ 3.9 บาท จะพบว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2.69 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 3.08 บาทต่อชั่วโมง
และจากค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกัน หากสมมุติการใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน นาน 30 วัน การใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 646 บาท และการใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 739 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าเดิม 93 บาทต่อการใช้เครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง ดังนั้นแนะนำในการประหยัดค่าไฟคือ ประชาชนต้องหมั่นล้างแอร์ปีละ 2 ครั้ง และ เพิ่มการเปิดพัดลมช่วยทำให้อุณหภูมิต่ำลง แอร์จะทำงานหนักน้อยลง
ทั้งนี้สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 นั้น กกพ. มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ จะเพิ่มเป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
สำหรับค่าไฟฟ้าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยรวมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ได้แก่ประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ) อยู่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วยหรือเฉลี่ยที่ 5.33 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ในงวดใหม่มีผลตั้งแต่ พ.ค.-ส.ค. 2566 ที่เป็นอัตราเดียวทำให้ค่าไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัยปรับขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.05 บาทต่อหน่วย ขณะที่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ฯลฯ จะปรับลดลง 0.56 บาทต่อหน่วย