กรมอุตุฯ แจงแล้ว ว่อนพายุไต้ฝุ่นเตรียมเข้าไทย เตือนพื้นที่เสี่ยง 52 จังหวัด
กรมอุตุนิยมวิทยา ซี้แจง พายุไต้ฝุ่นเตรียมเข้าไทย 52 จังหวัด ฝนเทกระหน่ำ ระวังน้ำป่าไหลหลาก เป็นข้อมูลเท็จ ควรตรวจสอบก่อนแชร์
จากกรณีที่โลกออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ข่าวเตือนภัยเกี่ยวกับประเด็นพายุไต้ฝุ่นเตรียมเข้าไทย เตือน 52 จังหวัด ฝนเทกระหน่ำ ระวังน้ำป่าไหลหลาก ล่าสุดทางเพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ก็ได้ตรวจสอบข่าวที่เกิดขึ้น และได้ติดต่อไปทาง กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้พบคำตอบของเรื่องราวที่มีการแชร์ทั่วโลกออนไลน์ว่า เป็นข้อมูลเท็จ
โดยทางเพจ Anti-Fake News Center Thailand ได้มีการโพสต์บรรยายไว้ดังนี้ ข่าวปลอม อย่าแชร์! พายุไต้ฝุ่นเตรียมเข้าไทย 52 จังหวัด ฝนเทกระหน่ำ ระวังน้ำป่าไหลหลาก
ตามที่มีการเตือนภัยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องพายุไต้ฝุ่นเตรียมเข้าไทย 52 จังหวัด ฝนเทกระหน่ำ ระวังน้ำป่าไหลหลาก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการประกาศเตือนภัยพิบัติโดยระบุว่าพายุไต้ฝุ่นเตรียมเข้าไทย ประกาศพื้นที่สีแดง 52 จังหวัด ฝนเทกระหน่ำทุกพื้นที่ ระวังน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 4 ก.พ. 66 ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าคำประกาศเตือนดังกล่าวไม่ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา จากการติดตามพยากรณ์อากาศ ระหว่างวันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า
ในขณะที่ในช่วงวันที่ 2 - 7 ก.พ. 66 มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ตลอดช่วง
ประกอบกับในช่วงวันที่ 2 - 4 ก.พ. 66 มีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียว จะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อมิให้เกิดความสับสน และตื่นตระหนกขึ้นในสังคม หากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติมสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.tmd.go.th โทรสายด่วน 1182
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : คำประกาศเตือนดังกล่าวไม่ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา จากการติดตามพยากรณ์อากาศ ระหว่างวันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Tnews