ปภ. แจ้ง 52 จว. และกรุงเทพฯ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน 27 ก.ย. - 2 ต.ค. 65
ปภ. แจ้ง 52 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 27 ก.ย. - 2 ต.ค. 2565
วันที่ 25 ก.ย. 65 เวลา 14.45 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (249/2565) ลงวันที่ 24 กันยายน 2565 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า เมื่อเวลา 13.00 น. พายุโซนร้อนกำลังแรง “โนรู (NORU)” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้เล็กน้อย จะเคลื่อนผ่านสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ลงทะเลจีนใต้ตอนกลางในช่วงวันที่ 25-26 กันยายน 2565 คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 27-28 กันยายน 2565 ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร (ข้อมูล วันที่ 25 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. ทวีกำลังเป็นพายุไต้ฝุ่น “โนรู (NORU)” ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 41/2565 ลงวันที่ 24 กันยายน 2565 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ดังนี้
1. สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อ.ฮอด จอมทอง ดอยหล่อ ดอยเต่า แม่วาง) ลำปาง (อ.เถิน แจ้ห่ม วังเหนือ เมืองปาน) สุโขทัย (อ.เมืองฯ บ้านด่านลานหอย ศรีสัชนาลัย) อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด) พิษณุโลก (อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์) ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง เมืองฯ วังเจ้า) กำแพงเพชร (อ.เมืองฯ คลองลาน โกสัมพีนคร) พิจิตร (อ.เมืองฯ วังทรายพูน โพธิ์ประทับช้าง) เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ วังโป่ง ชนแดน หนองไผ่ หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ วิเชียรบุรี) นครสวรรค์ (อ.แม่วงก์ แม่เปิน) และอุทัยธานี (อ.ลานสัก บ้านไร่ ห้วยคต)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อ.เมืองฯ ด่านซ้าย ท่าลี่ นาแห้ว วังสะพุง) หนองคาย (อ.สังคม) บึงกาฬ (อ.เมืองฯ บุ่งคล้า) หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา) อุดรธานี (อ.กุดจับ นายูง น้ำโสม) สกลนคร (อ.เมืองฯ ภูพาน สว่างแดนดิน) นครพนม (อ.เมืองฯ) ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ หนองบัวระเหว แก้งคร้อ บ้านแท่น ภูเขียว คอนสวรรค์) ขอนแก่น (อ.เมืองฯ หนองเรือ บ้านฝาง พระยืน มัญจาคีรี ชุมแพ) กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ ยางตลาด ฆ้องชัย) มุกดาหาร (อ.เมืองฯ ดงหลวง หว้านใหญ่ หนองสูง) มหาสารคาม (อ.เมืองฯ โกสุมพิสัย) ร้อยเอ็ด (อ.เมืองฯ เสลภูมิ จังหาร เชียงขวัญ) ยโสธร (อ.มหาชนะชัย คำเขื่อนแก้ว ป่าติ้ว) อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ ชานุมาน เสนางคนิคม)นครราชสีมา (อ.เมืองฯ ด่านขุนทด โนนไทย โนนสูง ปากช่อง สีคิ้ว วังน้ำเขียว ปักธงชัย พิมาย ประทาย) บุรีรัมย์ (อ.เมืองฯ เฉลิมพระเกียรติ ประโคนชัย โนนดินแดง นางรอง สตึก) สุรินทร์ (อ.เมืองฯ ปราสาท พนมดงรัก จอมพระ ท่าตูม ชุมพลบุรี) ศรีสะเกษ (อ.ขุนหาญ กันทรลักษ์ ราษีไศล ห้วยทับทัน อุทุมพรพิสัย กันทรารมย์ ภูสิงห์) และอุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ นาจะหลวย นาเยีย น้ำขุ่น บุณฑริก น้ำยืน เดชอุดม โขงเจียม เขื่องใน)
ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท (อ.เมืองฯ) ลพบุรี (อ.เมืองฯ บ้านหมี่ พัฒนานิคม) กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี หนองปรือ บ่อพลอย เลาขวัญ) สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ ด่านช้าง) ปทุมธานี (อ.ธัญบุรี คลองหลวง) นนทบุรี (อ.เมืองฯ ปากเกร็ด) สมุทรปราการ (อ.เมืองฯ บางพลี บางบ่อ บางเสาธง) นครนายก (อ.เมืองฯ ปากพลี) ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี นาดี ประจันตคาม) สระแก้ว (อ.เมืองฯ ตาพระยา เขาฉกรรจ์ วัฒนานคร อรัญประเทศ) ฉะเชิงเทรา (อ.ท่าตะเกียบ) ชลบุรี (อ.เมืองฯ บางละมุง ศรีราชา) ระยอง (อ.เมืองฯ แกลง นิคมพัฒนา บ้านค่าย บ้านฉาง เขาชะเมา ปลวกแดง) จันทบุรี (ทุกอำเภอ) และตราด (ทุกอำเภอ) รวมถึงกรุงเทพมหานคร
2. คลื่นลมแรง
ภาคกลาง จังหวัดชลบุรี (อ.เมืองฯ ศรีราชา เกาะสีชัง บางละมุง สัตหีบ) ระยอง (อ.เมืองฯ บ้านฉาง แกลง) จันทบุรี (อ.นายายอาม ท่าใหม่ แหลมสิงห์ ขลุง) และตราด (อ.เมืองฯ แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะกูด เกาะช้าง)
ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) ภูเก็ต (อ.เมืองฯ กะทู้ ถลาง) กระบี่ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลองอ่าวลึก) ตรัง (อ.กันตัง สิเกา ปะเหลียน หาดสำราญ) และสตูล (อ.เมืองฯ ละงู มะนัง ทุ่งหว้า)
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำเลย แม่น้ำชี ลำน้ำเชิญ ลำน้ำพรหม ลำน้ำพอง แม่น้ำมูล แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำตราด
4. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก และกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง และมูลบน จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี รวมทั้ง อ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้แจ้งให้ 52 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำพร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และจัดการจราจรทางน้ำให้เหมาะสม พร้อมทั้งให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและชุดปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ภัย และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมความพร้อมมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น หากได้รับความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึง สายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews