"หมอธีระ" เผยถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ แนะเตรียมรับมือ

09 เมษายน 2565
148

"หมอธีระ" เผยถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ แนะเตรียมรับมือ และเน้นย้ำถึง ภาวะผิดปกติระยะยาว หรือ Long COVID

"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาพูดถึง สถานการณ์โควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 9 เมษายน 2565 ทะลุ 497 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,012,924 คน ตายเพิ่ม 3,232 คน รวมแล้วติดไปรวม 497,354,784 คน เสียชีวิตรวม 6,198,548 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 82.44 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.09

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 31.67 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 28.71

หมอธีระ เผยถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ แนะเตรียมรับมือ

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก

...เปรียบเทียบสถิติรายสัปดาห์

ทั่วโลกติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ลดลง 22% เสียชีวิตลดลง 14%

ทวีปเอเชียติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ลดลง 25% เสียชีวิตลดลง 19%

แต่ไทยเราติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 1% (ยังไม่รวม ATK) และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19% สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง สวนกระแสของทั้งทั่วโลกและของทวีปเอเชีย

...คาดการณ์สถานการณ์หลังสงกรานต์

สงกรานต์ปีที่แล้วทำให้จำนวนติดเชื้อเฉลี่ยในครึ่งเดือนหลังสูงกว่าครึ่งเดือนแรกถึง 3.26 เท่า

และเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าในครึ่งเดือนแรกของพฤษภาคม และ 6.67 เท่าในครึ่งเดือนหลังของพฤษภาคมตามลำดับ

ดังนั้นหากเป็นไปตามธรรมชาติการระบาดในอดีต ปีนี้จะมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากจำนวนติดเชื้อรายวันขณะนี้มีสูงกว่า 4-5 หมื่นต่อวัน (รวม ATK)

หมอธีระ เผยถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ แนะเตรียมรับมือ

...ติดเชื้อ ป่วย หาย ตาย หรือไปสู่ Long COVID

ด้วยข้อมูลที่เห็นปัจจุบัน ติดเชื้อส่วนใหญ่มักป่วยแบบมีอาการ มากกว่าจะไม่มีอาการ แต่ป่วยแบบมีอาการมักเป็นอาการน้อย อย่างไรก็ตามสังคมที่มีการติดเชื้อจำนวนมากมาย ทำให้มีจำนวนคนป่วยปอดอักเสบ ป่วยรุนแรง ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว นี่คือวัฏจักรที่ทุกคนรับรู้ได้จากตัวเลขในแต่ละวันที่รายงานมา

เปรียบเหมือนแผ่นดินไหว ที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือเสียหายในระยะเฉียบพลัน

แต่ปัญหาหนักที่หลายประเทศทั่วโลกเผชิญอยู่คือ ภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID ที่เกิดขึ้นในประชากรจำนวนมากที่เคยติดเชื้อมาก่อน ไม่ว่าจะชายหญิง เด็กผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ป่วยแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรืออาการรุนแรง ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดได้หมด

Long COVID มีโอกาสเกิดขึ้นได้เฉลี่ย 20-40%

หากเป็นคนสูงอายุเกิน 65 ปี โอกาสเกิดราว 50% โดยชายเสี่ยงกว่าหญิง

แต่หากเป็นคนที่อายุ 20-60 ปี โอกาสเกิดมีตั้งแต่ 5-30% โดยหญิงเสี่ยงกว่าชาย

และในภาพรวมผู้ใหญ่มีความเสี่ยงมากกว่าเด็ก อย่างไรก็ตามพบเด็กที่มีปัญหา Long COVID มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในระลอก Omicron

...ล่าสุด National COVID-10 Clinical Evidence Taskforce ของประเทศออสเตรเลีย ก็เพิ่งออกแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เป็น Long COVID หรือ Post COVID conditions เมื่อวานนี้ 8 เมษายน 2565

ตอกย้ำให้เห็นว่า Long COVID is real เปรียบเหมือนคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ที่จะถาโถมมาหลังเกิดแผ่นดินไหวหนัก และจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องเตรียมรับมือ เพราะจะส่งผลบั่นทอนสมรรถนะของประชากรในการดำรงชีวิตและการทำงาน รวมถึงก่อให้เกิดภาวะทุพลภาพหรือโรคเรื้อรัง และภาระค่าใช้จ่ายทั้งของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจงสำหรับ Long COVID

การป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

สงกรานต์นี้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อตัวคุณและคนที่คุณรักเถิดครับ...

หมอธีระ เผยถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ แนะเตรียมรับมือ