หมอนิธิพัฒน์ หรือ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล โดยระบุว่า ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงและยอดผู้เสียชีวิตวันนี้ ทรงตัวมาจนครบ 7 วันแล้ว หวังว่าจะเป็นสัญญาณดีในช่วงที่อากาศเย็นจากเราไป พร้อมกับฝุ่น PM2.5 ที่ตลบขึ้นมาชั่วคราว
หลังจากมีการนำข้อมูลบางส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด ไปเผยแพร่จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการเข้ารับวัคซีน จึงได้มีความพยายามเคลียร์ใจกันเองในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมเคลียร์ใจสังคมไปพอสมควรแล้ว น่าจะยุติไม่ต่อความยาวสาวความยืดกันต่อไปให้ส่วนรวมสับสน มามุ่งหน้าหาทางออกให้ประเทศในยามไร้ข่าวดีเช่นนี้กันต่อไปดีกว่า
พูดถึงระบบภูมิคุ้มกันของสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะที่เรียกว่ามนุษย์ มันช่างแสนเป็นเรื่องที่ลึกล้ำเหลือกำหนด ยากที่จะจินตนาการและเรียนรู้ให้จบสิ้นกระบวนการนำของแปลกปลอมจากภายนอกเข้าไปสู่ร่างกาย มีหรือที่ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะยอมง่ายๆ ถ้าเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเช่นไวรัสก่อโรคโควิด-19 เมื่อไม่รู้เขารู้เราการศึกในขั้นต้นย่อมต้องพ่ายแพ้เป็นธรรมดา ผ่านมานี่ก็สองปีกว่าแล้ว ภูมิคุ้มกันของมนุษย์น่าจะเข้าใกล้จุดภูมิคุ้มกันหมู่เพียงพอแล้ว ทั้งภูมิที่เกิดตามธรรมชาติจากการติดเชื้อเอง และที่สำคัญได้รับการเสริมสร้างจากวัคซีนโควิด ซึ่งยังถือว่าเป็นการอนุมัติใช้สำหรับกรณีฉุกเฉิน แต่ก็ได้ช่วยรักษาชีวิตคนหมู่มากเอาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
สรรพสิ่งล้วนมีสองด้านให้พิจารณา สิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายรับเข้ามาซ้ำๆ บางครั้งอาจก่อให้เกิดผลเหนือความคาดหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้โรคออโด้อิมมูน (ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ที่ทำอันตรายตัวเอง) ที่อาจจะกำลังจะเกิดขึ้นอยู่แล้วแสดงตัวเร็วขึ้น ดังที่เริ่มมีรายงานกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้สะสมมากขึ้น หรือการกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี้ที่ต้องการได้แต่ไม่เพียงพอ แถมที่สร้างมาบางส่วนอาจกลับไปส่งเสริมการติดเชื้อไวรัสเสียเอง ซึ่งทั้งหมดมีหลักฐานในทางทฤษฎีหรือในห้องทดลองยืนยัน แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกิดกับผู้ป่วยจริง ยังคงต้องรอการรวบรวมและนำเสนออย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ในระหว่างนี้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามความจำเป็น จึงยังมีประโยชน์ความคุ้มค่ามากกว่าผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้
แล้วการสูบบุหรี่ จะส่งผลให้การตอบสนองต่อวัคซีนไม่ได้ผลดีตามที่คาดหวังด้วยหรือไม่ ทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาในอาสาสมัครชายฉกรรจ์จำนวน 55 คน ที่ยังสูบบุหรี่อยู่เป็นประจำทั้งก่อนและหลังได้รับวัคซีนของไฟเซอร์สองเข็ม พบว่าคนที่สูบบุหรี่และมีอาการติดนิโคตินในบุหรี่มาก จะมีความสัมพันธ์แบบผกผันในระดับปานกลาง หมายถึงคนกลุ่มนี้จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ขึ้นน้อยกว่า แม้ว่าจะไม่เห็นความสัมพันธ์แบบผกผันนี้ได้ชัดเมื่อเทียบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองกับระดับนิโคตินในเลือด ถึงจะเป็นการศึกษาขนาดเล็กที่ไม่มีกลุ่มควบคุมให้เปรียบเทียบ แต่ก็ช่วยเสริมหลักฐานในอดีตมากมายที่แสดงให้เห็นว่า การสูบบุหรี่ไม่เป็นผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (คลิก)
บ้านเรายังมีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีอยู่พอสมควร ทั้งที่กำลังรักษาตัวอยู่และทั้งที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การฉีดวัคซีนโควิดให้คนกลุ่มนี้จึงต้องสนใจการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันเป็นพิเศษ ทีมนักวิจัยจากประเทศสเปนทำการศึกษาในผู้ติดเชื้อจำนวน 166 คนที่กำลังรักษาอยู่ด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี พบว่าภายหลังการฉีดวัคซีนโควิดชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอไปแล้วสองเข็ม ผู้ที่มีระดับ CD4 ต่ำกว่า 200 ตัวต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร จะมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันทั้งชนิด humoral และชนิด cell-mediated ได้ไม่ดี เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับ 500 ตัวขึ้นไป อีกทั้งในกลุ่มคนที่มีระดับ CD4 สูงพอแล้วคือเกิน 500 ตัวนี้ ภูมิคุ้มกันทั้งสองประเภทที่ตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนโควิด ขึ้นได้ดีไม่ต่างจากคนทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับ CD4 น้อยกว่า 200 จึงเป็นเป้าหมายหลักหนึ่งในการรณรงค์ให้เข้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ถ้าจะให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่น้อยกว่า 500 ด้วย ก็อาจจะดียิ่งขึ้นไปอีก (คลิก)