เช็กด่วน "ติดโอไมครอน" อาการขั้นไหนต้องระวัง หลังแพร่เร็วขึ้น 70 เท่า
เช็กสัญญาณโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) อาการขั้นไหนต้องระวัง หลังยอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น
จากกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้ โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายเร็วกว่าเดลตาถึง 70 เท่า ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงต่อเนื่อง
แม้ว่าหลายหน่วยงานจะออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ป่วยหลายรายที่ติดเชื้อโอไมครอนจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ประชาชนก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะในบางรายอาจมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น และอาจป่วยหนักได้ แล้วอาการแบบไหนที่ผู้ป่วยโควิด ควรเฝ้าระวังและต้องรีบพบแพทย์
ทั้งนี้ จากข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุถึงเกณฑ์การส่งต่อ "ผู้ป่วยโควิด" เข้าโรงพยาบาลหากมีอาการเปลี่ยนแปลงระหว่างทำ Home Isolation / Community Isolation เอาไว้ ดังนี้
1. เมื่อมีอาการไข้สูงเกินกว่า 39 องศาฯ เป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
2. วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94%
3. นับการหายใจได้มากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ (หากหายใจมากกว่า 20 ครั้งต่อนาที ควรติดต่อแพทย์ที่ดูแล HI CI)
4. กลุ่มผู้ป่วย 608 ที่มีความเสี่ยงหรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่มีอาการเปลี่ยนแปลง
5. สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการในข้อ 1 หรือ ข้อ 2 หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็วเกินเกณฑ์อายุ เซื่องซึมลง รวมถึงดื่มนมหรือทานอาหารได้น้อยลง
โควิดสายพันธุ์โอไมครอน เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์ได้ถึง 50 ตำแหน่ง แพร่กระจายได้รวดเร็วมาก แม้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้ซ้ำได้ นอกจากนี้ไวรัสจะยึดเกาะกับเซลล์ของคนได้มากกว่า 10 จุด หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมนุษย์ได้ดี
สำหรับ อาการโอไมครอน ของผู้ป่วยติดโควิด มักจะมีอาการ ดังนี้ ไอ , จาม , เป็นไข้ , มีน้ำมูก , ปวดศีรษะ , หายใจลำบาก และได้กลิ่นน้อยลง รวมไปถึงอาการเจ็บคอ, ปวดกล้ามเนื้อ, เหนื่อย, อ่อยเพลีย, ไอแห้ง และเหงื่อออกมากในเวลากลางคืน
ขณะที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยอาการโอไมครอนส่วนใหญ่ของผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ในประเทศไทย จะมีอาการต่างๆดังนี้ อาการไอ 54 % , เจ็บคอ 37 % , มีไข้ 29 % , ปวดกล้ามเนื้อ 15 % , มีน้ำมูก 12 % , ปวดศีรษะ 10 % , หายใจลำบาก 5 % , ได้กลิ่นลดลงมีเพียง 2 % และพบว่า 48% ไม่มีอาการ