บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดคำนวณรายได้ครอบครัวอย่างไรถึงได้สิทธิ

03 กุมภาพันธ์ 2565
7.1 k

บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 เงื่อนไขลงทะเบียนรอบใหม่มีอะไรบ้าง คำนวณรายได้ครอบครัวอย่างไร แบบไหนถึงได้สิทธิ

จากกรณีที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการดำเนินงาน และความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ผู้มีรายได้น้อย โดยคาดว่าจะมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิบัตรคนจนรอบนี้ประมาณ 17 ล้านคน ซึ่งเปิดลงทะเบียนบัตรคนจน ในช่วงประมาณไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 (ประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน)

 

บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดคำนวณรายได้ครอบครัวอย่างไรถึงได้สิทธิ

 

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้มีสิทธิลงทะเบียนบัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 จะแตกต่างไปจากปี 2558 เพราะมีเพิ่มเกณฑ์รายได้ครัวเรือน การถือครองทรัพย์สินต่างๆ เข้ามาเป็นตัวคัดกรองด้วย ผู้ที่เคยลงทะเบียนบัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2558 และเป็นผู้ถือบัตรคนจนในปัจจุบันอยู่แล้ว จะต้องลงทะเบียนใหม่ในปี 2565 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดกรองผู้มีสิทธิได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงต้องทบทวนคุณสมบัติใหม่

สำหรับคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

1. มีสัญชาติไทย


2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป


3. ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา


4. รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และหากกรณีมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมรายได้ของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)


5. ทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และหากกรณีมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)


6. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

7. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ดังนี้

- วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

- วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท


8. อสังหาริมทรัพย์ ต้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้


กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว


1. ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)


กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

- บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

- ห้องชุด ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร


กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร

- ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ 

- หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 


2. ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

- ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

- ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่

 

กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว


1. ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

- หากผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว แยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

- หากผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

- หากผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุด แยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

- หากผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุด ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร


กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร

- ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ 

- ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่


2. ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

- กรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

-  กรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่

 

บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดคำนวณรายได้ครอบครัวอย่างไรถึงได้สิทธิ


ตัวอย่างการคำนวณรายได้เฉลี่ยครอบครัว


ตัวอย่างที่ 1 : ในบ้านมีสมาชิก 3 คน โดยมีรายได้ดังนี้

คนที่ 1 : มีรายได้ปีละ 80,000 บาท

คนที่ 2 : มีรายได้ปีละ 70,000 บาท

คนที่ 3 : ตกงาน ไม่มีรายได้

รวมรายได้ครัวเรือนคือ 150,000 บาท หาร 3 คน เท่ากับ 50,000 บาท 

ถ้าคนในบ้านนี้มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด มีอสังหาริมทรัพย์ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีวงเงินกู้เกินเกณฑ์ ไม่มีบัตรเครดิต จะสามารถลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ทั้ง 3 คน


ตัวอย่างที่ 2 : บ้านนี้มีสมาชิก 3 คน พ่อ-แม่ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ ส่วนลูก 1 คน มีรายได้ 360,000 บาทต่อปี ทำให้รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยคือ 360,000 / 3 = 120,000 บาท ดังนั้นบ้านนี้จะไม่มีใครได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้ว่าพ่อ-แม่จะไม่มีรายได้ แต่ว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวเกิน 100,000 บาท ต่อคน