WHO เตือน รับมือ โอมิครอน ย้ำรุนแรงน้อยกว่าเดลตา เเต่ยังเป็นไวรัสที่อันตราย
องค์การอนามัยโลก WHO แนะเตรียมรับมือโควิดโอมิครอน ระบาดพร้อมโรคทางเดินหายใจ ย้ำโอมิครอนอาการรุนแรงน้อยกว่าเดลตา เเต่ยังถือเป็นเชื้อไวรัสที่อันตราย
จากกรณีสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิดโอมิครอนทั่วโลก ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือนรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พร้อมกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง
โดยซินหัวมีรายงานว่า เมื่อวันพุธ (12 ม.ค.65) องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือนรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พร้อมกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง
มาเรีย แวน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การฯ แถลงข่าวว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคต่างๆ แพร่กระจายสู่ชุมชนมากกว่าเดิม และขณะเชื้อไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจ อาทิ ไข้หวัดใหญ่ มักหมุนเวียนในฤดูใบไม้ผลิ
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่WHO เผยว่าทั่วโลกตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มกว่า 15 ล้านรายในสัปดาห์ก่อน ถือเป็นสถิติรายสัปดาห์สูงสุดครั้งใหม่ โดยมีปัจจัยจากเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งขึ้นแท่นเป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลตาอย่างรวดเร็วในเกือบทุกประเทศ
ขณะเดียวกันจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รายสัปดาห์ยังทรงตัวเฉลี่ย 48,000 ราย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021
กีบรีเยซุสระบุว่าแม้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจะเพิ่มสูงในหลายประเทศ ทว่ายังคงแตกต่างจากระดับในการระบาดหลายระลอกก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลจากความรุนแรงที่ลดน้อยลงของสายพันธุ์โอไมครอน และภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อไวรัสฯ มาแล้ว
“ผมอยากกล่าวให้ชัดเจนว่าแม้โอไมครอนจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่มันถือเป็นเชื้อไวรัสฯ อันตราย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19” กีบรีเยซุสกล่าว
ทั้งนี้ องค์การฯ ย้ำเตือนอีกครั้งว่าตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมหาศาลจะสร้างภาระหนักหน่วงให้ระบบการดูแลสุขภาพ
แวน เคอร์โคฟ เสริมว่าต้องรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นขณะเชื้อไวรัสฯ วิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง พร้อมเตือนการระบาดในอนาคตในกลุ่มผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนและไม่ได้รับการป้องกันที่ดี เนื่องจากวัคซีนจะเป็นตัวลดทอนอาการป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต เช่นเดียวกับการปรับปรุงการรักษาพยาบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณ
www.xinhuathai.com