มาดามเดียร์ ข้องใจ เก็บภาษีหุ้น-คริปโตฯ ช่วยหรือผลักนักลงทุนออกนอกประเทศ

10 มกราคม 2565
178

มาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ตั้งคำถามประเด็น ภาษีหุ้น-ภาษีคริปโตฯ เก็บเพื่อช่วยประเทศ หรือผลักนักลงทุนออกนอกประเทศ

จากกรณี มาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ระบุข้อความว่า 

ภาษีหุ้น-ภาษีคริปโตฯ เก็บเพื่อช่วยประเทศ หรือผลักนักลงทุนออกนอกประเทศ

 มาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี

เพียงแค่กรมสรรพากรเปรยถึงแผนการจัดเก็บภาษีจากคริปโตเคอร์เรนซี และเงินรายได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็ทำให้นักลงทุนทั้งรายย่อยรายใหญ่ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และดิจิทัลเคอร์เรนซีเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากกรมสรรพากรดำเนินการเก็บภาษีจริงตามที่ปรากฏในข่าว สร้างเสียงความไม่พอใจ ความกังวลถึงวิธิปฏิบัติจริงที่ดูจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการเก็บภาษีคริปโตฯในอัตรา 15% โดยผู้ลงทุนต้องเป็นผู้แจ้งการเสียภาษีต่อกรมสรรพากรเอง เหมือนเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบและความเสี่ยงให้ประชาชนว่าถ้าหากรายงานการเสียภาษีผิดพลาด ในอนาคตจะต้องเผชิญความเสี่ยงค่าปรับภาษีย้อนหลังหรือไม่? นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าการเงินยุคดิจิทัลเคอร์เรนซีนั้นคือ “โลกการเงินที่ไร้พรมแดน” การออกกฎหมายดังกล่าวของกรมสรรพากรทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วเป็นการสร้างโอกาสในการเก็บรายได้เข้าแผ่นดิน หรือเป็นการตัดโอกาสของรัฐและบริษัทแพลตฟอร์มที่เป็นสัญชาติไทยโดยการไล่ให้ผู้ลงทุนไปลงทุนผ่านแผลตฟอร์มของบรรษัทต่างชาติแทน

-ค่าครองชีพพุ่งทะยาน รวมสินค้าขึ้นราคา และเพิ่มการจัดเก็บภาษี
-สุดยินดี "คุณหญิงแมงมุม" หรือ ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล ลุกนั่งเองได้แล้ว
-ตู่ ปิยวดี แจ้งข่าววิ่งไม่ได้ตลอดชีวิต ต้องหมั่นทำกายภาพ สามี ดูแลไม่ห่าง

การเก็บภาษีเป็นธรรมหรือไม่?

การเก็บภาษีคริปโตฯจากกำไรก็สร้างคำถามถึงความ “เป็นธรรม” ในการชำระภาษี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” นั่นหมายถึงว่า นักลงทุนทุกคนรู้ดีว่าการลงทุนนั้นมีโอกาสที่ได้ทั้งกำไรและขาดทุน การเก็บภาษีจากการซื้อ-ขายในแต่ละครั้งที่ได้กำไร ฟังเพียงผิวเผินเหมือนรัฐให้ความเป็นธรรมกับผู้ลงทุน แต่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าการซื้อ-ขายของผู้ลงทุนนั้นมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นหลายครั้งซึ่งสุดท้ายแล้วหากนำทุกธุรกรรมมารวมกัน ผลลัพธ์จากการลงทุนในคริปโตฯ อาจเป็นผลขาดทุน ในขณะที่ระหว่างทางกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากผู้ลงทุนไปแล้วเรียบร้อย อย่างไรก็ดีสิ่งที่ซ้ำร้ายในด้านความ “เป็นธรรม” มากยิ่งกว่าการเก็บภาษีคริปโตฯก็คือ การเก็บภาษีหุ้นจากทุกธุรกรรมที่มีการขายโดยไม่สนใจว่าธุรกรรมนั้นจะเป็นผลกำไรหรือขาดทุน

แน่นอนว่าเจตนารมณ์ของการจัดเก็บภาษีภาครัฐก็คือการจัดเก็บภาษีจากประชาชนผู้มีรายได้ และในอดีตที่ผ่านมาประชาชนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีด้วยเหตุผลเพื่อต้องการสนับสนุนให้ตลาดลงทุนไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในวันที่รัฐต้องการเปลี่ยนนโยบายสิ่งหนึ่งที่รัฐต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก็คือ เงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดคริปโตเคอร์เรนซีนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากเงินออมของประชาชนที่เคยผ่านการเสียภาษีมาแล้วครั้งหนึ่ง หากประชาชนที่นำเงินออมมาลงทุนแล้วได้กำไร หรือได้รายได้เพิ่ม การจัดเก็บภาษีเงินกำไร (Capital Gain Tax) ก็ย่อมเป็นที่ยอมรับได้ แต่แนวนโยบายที่จะเก็บภาษีจากมูลค่าการขายหุ้นเลยโดยที่ไม่สนใจว่าเป็นรายได้ส่วนเพิ่มหรือไม่ และการเก็บภาษีกำไรจากทุกธุรกรรมในการลงทุนคริปโตฯ โดยไม่สนใจผลลัพธ์สุดท้ายของผู้ลงทุน ก็ทำให้เกิดคำถามถึงความ “เป็นธรรม” ของรัฐในการกำหนดนโยบาย

 มาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี

ผลกระทบที่สรรพากรต้องไม่มองข้าม

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลังหนึ่งให้กับระบบเศรษฐกิจไทยนับเป็น “ทางออกสำคัญ” ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศในการพึ่งพาตนเอง นอกจากผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ที่มีข้อจำกัดมากมาย เพื่อนำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนกิจการประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ สิ่งที่ตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าก็คือตัวเลขการระดมทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือน ธ.ค. 64 ที่มียอดสูงเป็นประวัติกาลกว่า 50,000 ล้านบาทภายในเดือนเดียว ดังนั้นสิ่งที่กรมสรรพากรต้องคำนึงถึงรายละเอียดและวางแผนให้รอบคอบก่อนดำเนินนโยบายก็คือผลกระทบที่จะตกถึงโครงสร้างใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต

โครงสร้างวอลลุ่มการซื้อ-ขายหุ้นในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3ส่วนหลักๆก็คือ 1) นักลงทุนสถาบันเป็นสัดส่วน 20% 2) นักลงทุนต่างชาติคิดเป็นสัดส่วน 40% 3) นักลงทุนไทย 40% โดยแบ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ 60% และนักลงทุนรายย่อย 40% สิ่งที่จะตามมากระทบหากกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีหุ้นจากทุกคำสั่งขายจริงก็คือ สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 40% ของตลาดหลักทรัพย์จะลดจำนวนลงในทันที นั่นยังไม่นับถึงนักลงทุนไทยรายใหญ่ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักที่ช่วย Contribute ยอดวอลลุ่มของตลาดหลักทรัพย์ไทยในปัจจุบันเพราะทั้ง 2 กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางตรงในทันทีหากกฎหมายบังคับใช้ เมื่อมูลค่าการซื้อ-ขายของตลาดหลักทรพย์ไทยลดน้อยลงนั่นหมายถึงสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์จะหายไป ดังนั้นสิ่งที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาโดยยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ก็คือ การเทขายหุ้นของนักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันต่างชาติ เพราะสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยไม่สามารถตอบโจทย์การลงทุนได้อีกต่อไป นั่นหมายถึง มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทยจะหดตัวลงในทันที

สิ่งที่รัฐควรทำ

ในวันที่การจัดเก็บรายได้รัฐไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายย่อมเป็นแรงกดดันให้กระทรวงการคลังต้องเร่งหารายได้อื่นเพื่อมาชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป การเก็บภาษีจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และดิจิทัลเคอร์เรนซีที่ถือเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงในประเทศ จึงเป็นกลุ่มที่รัฐคำนึงถึงเป็นรายแรกๆในการจัดเก็บภาษี ซึ่งเชื่อว่าหากกรมสรรพากรออกมาตรการการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมต่อผู้ลงทุน โดยการเก็บจากรายได้เพิ่มที่นักลงทุนทำกำไรได้ พร้อมมีรายละเอียดที่ชัดเจนไม่ผลักภาระความรับผิดชอบให้ประชาชนต้องไปเผชิญความเสี่ยงในอนาคต ก็คงเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถยอมรับได้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรพึงกระทำก่อนออกเป็นข้อกฎหมายที่นำมาใช้ปฏิบัติจริงก็คือ “การรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ให้ครบถ้วน ไม่ใช่การรับฟังแต่ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Regulator) เพราะจะทำให้ขาดข้อมูลในการพิจารณาให้ครบถ้วนและรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนึงถึงผลกระทบของภาพรวมการลงทุนที่หากพิจารณาไม่รอบคอบแล้ว ก็ไม่ต่างกับการที่ “รัฐผลักเงินลงทุนคนไทยออกไปให้ต่างประเทศ พร้อมสูญเสียเงินและโอกาสจากเงินลงทุนของต่างชาติในคราวเดียวกัน”

ในวันที่ประชาชนเดือดร้อน พยายามดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองเพื่อเอาชีวิตรอดเพราะเครื่องมือช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ก็นับว่ายากลำบากเต็มทีแล้ว ตลาดลงทุนจึงเป็นทางออกสำคัญให้ประชาชนตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายใหญ่เพื่อระดมทุนไปประคับประคองธุรกิจหรือเพื่อรักษามูลค่าเงินออมให้ทันกับราคาสินค้าอาหารที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นบทบาทของรัฐในการเป็นผู้สนับสนุน (Facilitator) จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องใช้ให้ถูกที่และถูกเวลาเพราะหากเมื่อเดินหน้าไปแล้วก็ยากที่จะกลับมาแก้ไขผลพวงที่เกิดขึ้น