รวมใจ น้อมรำลึก 5 ธันวามหาราช วันสำคัญแห่งชาติ ที่ปวงชนชาวไทยยังตราตรึง
ใน 5 ธันวาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันพ่อแล้ว ยังมีอีกหลายวันสำคัญที่เกิดขึ้นในวันนี้ นับเป็นจุดประกายวันสำคัญแห่งชาติ ที่ปวงชนชาวไทยยังตราตรึง
ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้อย่างขึ้นใจ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ท่าน 5 ธันวาเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ด้วยความที่เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกพระองค์ของโลก จึงทำให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกๆปี กลายเป็นวันสำคัญมากมาย
วันสำคัญที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม อันดับแรกเลยคือ วันพ่อแห่งชาติ ที่หลายๆ โรงเรียนจะต้องจัดกิจกรรมรำลึกถึงพระคุณบิดากันทุกโรงเรียน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน จึงทำให้กิจกรรมดังกล่าวแตกต่างรูปแบบกันออกไป
กิจกรรมวันพ่อ ได้จัดติดต่อกันทุกปีตั้งแต่ 2523 โดยการริเริ่มของคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา ซึ่งตระหนักได้ว่า พ่อก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในครอบครัว จึงถือนำวันวันเฉลิมพระชนมพรรษาของเสด็จพ่อรัชกาลที่ 9 เป็น "วันพ่อ"
อีกหนึ่งวันสำคัญอีกอย่างคือ วันชาติ ที่ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยกำหนดวันชาติให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เนื่องจากเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีการฉลองมาตั้งแต่ปี 2482 กระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม 2503
กระทั่งยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ถือวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายน ก่อนจะเริ่มนับแต่ปี 2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในหลวงร.9 ที่ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันชาติ" ของไทย ตั้งแต่นั้นมา
ด้วยความที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ทางดิน และผลสำเร็จจากการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่องของพระองค์ เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ในปี 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์
โดยจากจุดเริ่มต้นของพระเมตตา ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงอยากเห็นประชาชนมีที่ดินทำกิน มีผลผลิตเป็นอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีพ ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตรในมิติของดินต่างๆ ด้วยการทำโครงการหญ้าแฝก ห่มดิน แกล้งดิน และแก้ดินเปรี้ยว ฯลฯ
ทาง สหประชาชาติ หรือ UN จึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
และเพื่อให้ชาวไทยได้รำลึก และยึดเหนี่ยวจิตใจ แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เป็นวันชาติ และเป็นวันพ่อแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็นวันหยุดราชการด้วย
จุดมุ่งหมายของงานวันพ่อแห่งชาติ
- เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
- เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
- เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ
- เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
สำหรับดอกไม้ประจำวันพ่อ คือดอกพุทธรักษา มีสีเหลืองงามซึ่งตรงกับสีของวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 (วันจันทร์) รวมทั้งเป็นไม้มงคลที่คนไทยเชื่อกันว่า เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่คอยคุ้มครองปกปักษ์รักษา ให้มีความสงบสุข ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ และรอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวงได้
พระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ รัชกาลที่ 9 ทรงพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก)
และหม่อมสังวาล (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี) พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น (MOUNT AUBURN) รัฐเมสสาชูเขตต์ (MASSACHUSETTS) ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อพระชนมายุได้ 5 พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร ต่อจากนั้นทรงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (MERRIMENT) เมืองโลซานน์ (LASAGNA) ในปี 2478 ได้ทรงเข้าศึกษาต่อที่ CEDE NOUBELLE DE LA SUES ROMANCE CHILLY
โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติ ในระดับอุดมศึกษาทรงเข้าศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมืองโลชานน์ ต่อมาในปี 2481 ได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยพร้อมด้วยพระบรมเชษฐาธิราช พระบรมราชชนนี และสมเด็จพระนางเจ้าพี่นางเธอ
ระหว่างที่ พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชกรณียกิจที่นับเป็นคุณาประการแก่ปวงชนชาวไทยมากมาย ทั้งการกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และ เอเชีย
และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทุกภาคทรงประจักษ์ในปัญหาของราษฎรในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน ลำเค็ญและด้อยโอกาส ด้วยมีคู่บารมีอย่าง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามไปด้วยแทบทุกแห่ง
จนมาในปีพุทธศักราช 2559 วันที่ 13 ตุลาคม นับเป็นวันที่น้ำตานองแผ่นดิน เนื่องจจากประกาศข่าวการ สวรรคตรัชกาลที่ 9 ในช่วงเย็น เรียกได้ว่าความเศร้าโศกต่างปกคลุมทั้งแผ่นดิน และจิตใจของปวงชนชาติไทย
พระองค์ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัยเนื่องด้วยพระอาการประชวร แม่คณะแพทย์จะถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่พระอาการที่เป็นอยู่ก็มิอาจทุเลาลง กระทั่งเวลา 15 นาฬิกา 52 นาที พระองค์เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews