องค์การอนามัยโลก เตือน "โอไมครอน" มีแนวโน้มระบาดหนักทั่วโลก
องค์การอนามัยโลกเตือนว่า ขณะนี้ทั่วโลกเผชิญความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน ที่มีแนวโน้มแพร่กระจายรวดเร็วไปทั่วโลก
จากกรณี วันที่ 30 พ.ย.64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization - WHO) ออกคำเตือนว่า โลกกำลังมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์โอไมครอน แพร่กระจายไปทั่วโลก โดยมีความเสี่ยงสูงมากที่จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจมีผลกระทบรุนแรงในบางพื้นที่
ทั้งนี้ WHO ได้ออกคำแนะนำต่อ 194 ประเทศสมาชิก โดยกำชับให้ทุกฝ่ายเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่กลุ่มที่มีความเปราะบางและตรวจสอบว่าได้เตรียมแผนบรรเทาสถานการณ์เอาไว้พร้อมแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบบริการด้านสุขภาพล่ม
"โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ของโปรตีนหนามมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งบางส่วนมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อแนวโน้มการแพร่ระบาด ความเสี่ยงโดยรวมทั่วโลกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโอไมครอนได้รับการประเมินว่าอยู่ในระดับสูงมาก" องค์การอนามัยโลกกล่าว
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การเพิ่มความพยายามในการเฝ้าระวังและจัดลำดับเหตุการณ์เพื่อเพิ่มความเข้าใจเรื่องการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงโอไมครอน ในกรณีที่มีขีดความสามารถ ให้ดำเนินการสำรวจภาคสนามและประเมินผลทางห้องปฏิบัติการเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะของโอไมครอน สิ่งนี้ควรรวมถึงการตรวจหาเชื้อในชุมชนเพื่อตรวจสอบว่าโอไมครอนแพร่กระจายอยู่ในชุมชนแล้วหรือไม่
WHO เรียกร้องให้นานาชาติยกระดับมาตรการตรวจตราหาผู้ติดเชื้อ และการตรวจหาชนิดเชื้อ เพื่อเร่งหาว่าชนิดโอไมครอนนั้นแพร่ระบาดในชุมชนหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้เร็วที่สุดด้วย
จนถึงตอนนี้ มีการพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอน ในหลายประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรีย เบลเยียม และ อิตาลี และในประเทศอื่นๆ อย่างออสเตรเลีย อิสราเอล และแคนาดา นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ของแอฟริกาใต้แจ้งข่าวการพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ โอไมครอน แก่องค์การอนามัยโลก เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 64 หลักฐานเบื้องต้นชี้ว่า เป็นเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำสูง และอาจหลบภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ทางองค์การอนามัยโลกต้องจัดให้ไวรัสซึ่งมีการกลายพันธุ์กว่า 50 จุดตัวนี้ เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เป็นสายพันธุ์แรกนับตั้งแต่โควิดเดลตา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews