หน่วยงานแจงแล้ว ถนนหายกลางทุ่งนา แท้จริงคือ คันคลองส่งน้ำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบออกชี้แจงแล้ว หลังมีชาวบ้านร้องเรียนเรื่อง ถนนหายกลางทุ่งนา แท้จริงแล้วคือ คันคลองส่งน้ำ
จากกรณีที่มีประเด็นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ชาวบ้านร้องเรียน มีถนนลาดยาง เสาไฟโซลาร์เซลล์ โผล่กลางทุ่งนา สร้างให้ใครใช้ ต่อมาทาง แขวงทางหลวงชนบทยโสธร ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า
เรียน สื่อมวลชน
ตามที่ กรมทางหลวงชนบทได้รับการประสานงานจาก ปปช.จังหวัดยโสธร ว่ามีประชาชนในพื้นที่ บ้านเหมือด ต.ฟ้าหยาด อ. มหาชนะชัย จ.ยโสธร ร้องเรียนการก่อสร้างถนนพร้อมติดป้ายจำกัดน้ำหนักของกรมทางหลวงชนบท ตามประเด็นข่าว “สร้างให้ใครใช้” นั้น
กรมทางหลวงชนบท โดยแขวงทางหลวงชนบทยโสธรได้ออกตรวจสอบสถานที่ร่วมกับ ปปช.จังหวัด ปรากฎว่าถนนดังกล่าวมิใช่ถนนในโครงข่ายของแขวงทางหลวงชนบทยโสธร แต่ได้มีการนำป้ายจำกัดน้ำหนักรถบรรทุก ไปติดในโครงการ โดยติดตั้งป้ายตามแบบมาตรฐานของกรมทางหลวงชนบท
ดังนั้นแขวงทางหลวงชนบทยโสธรได้ประสานสำนักงานชลประทานที่ 7 กรมชลประทานซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงข่ายถนนตามที่ปรากฏในข่าวให้ดำเนินการแก้ไข เพราะหากมิใช่ถนนของกรมทางหลวงชนบท ทางโครงการจะนำป้ายดังกล่าวไปติดตั้งมิได้ เพราะอาจจะสร้างความสับสนและสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 นายวิทวัฒน์ วันทนียกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง สำนักงานชลประทานที่ 7 พร้อมด้วยนายเชิดชัย มาลัย หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม นายรุ่งสุริยัน ฉ่ำเพชร หัวหน้าฝ่ายช่างกล
นายพงษ์พิศ ไชยศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 นายชัยวิทย์ ทาทอง วิศวกรชลประทานปฏิบัติการ ร่วมลงพื้นที่สำรวจ และชี้แจงข้อเท็จจริงในการก่อสร้างถนนลาดยางเลียบคลองชลประทานในพื้นที่บ้านเหมือด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ว่า
จุดดังกล่าวไม่ได้เป็นถนนแต่เป็นคันคลองส่งน้ำสาย MC-2L-7L ของสถานีสูบน้ำ P.5 ได้รับงบประมาณก่อสร้างตาม พรบ. ปี พ.ศ.2564 วงเงิน 8,417,000.00 บาท ระยะทาง 1.816 กิโลเมตร เป็นงานจ้างเหมาทั้งโครงการ ซึ่งโครงการฯ ได้เสนอแผนงานปรับปรุงคันคลองส่งน้ำ สถานีสูบน้ำ P.5 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 (ไทยนิยมยั่งยืน)
โดยโครงการฯ ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงคันคลองส่งน้ำจากหินลูกรังเดิมให้เป็นลาดยาง เพื่อให้ชาวบ้านและเกษตรกรใช้เป็นทางสัญจร เป็นทางเชื่อมเข้าสู่ชุมชนหรือใกล้ตัวเมืองมากที่สุด และจะได้ใช้ขนถ่ายสินค้าทางการเกษตรได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับงบประมาณบางส่วนและได้เสนอขอรับงบประมาณในภาพรวมของสถานีสูบน้ำ P.5 ในปี พ.ศ.2566 เพื่อให้เชื่อมโยงกับคลองสายหลัก
หากได้รับงบประมาณจะสามารถสัญจรได้ทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาอุดม บ้านเหมือดและบ้านคูสองชั้น ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
ทั้งนี้นายวิทวัฒน์ วันทนียกุล ยืนยันว่าการก่อสร้างดังกล่าว เกษตรกรและราษฎรในพื้นที่ได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก เพิ่มความเจริญสู่ชุมชน และหากได้รับงบประมาณตามแผนงานในส่วนที่เหลือ จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านการเกษตร สร้างความมั่งคั่งให้กับเกษตรกร ตามเจตนารมณ์และนโยบายของกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้วางไว้ต่อไป
ขอบคุณ
โครงการชีล่าง และเซบายล่าง
แขวงทางหลวงชนบทยโสธร
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews