"หมอธีระ"เผย ทำไมไทย โควิด19 ระบาด มากกว่า สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ 100 เท่า 

23 ตุลาคม 2564
2.8 k

"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เผย ข้อมูลการระบาด โควิด19 ของไทยกับสหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ มากกว่า UAE 100 เท่า 

"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึง สถานการณ์โควิด-19 ว่า

ข้อมูลวิชาการสำหรับคนที่ได้ Sinopharm
สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ (UAE) ได้ใช้วัคซีน Sinopharm นี้ให้แก่ประชาชนของเค้า จากนั้นได้พิจารณาให้ mRNA vaccine คือ Pfizer/Biontech เป็นเข็มกระตุ้นตั้งแต่สิงหาคมเป็นต้นมา
การระบาดของ UAE นั้นสามารถกดการระบาดจากหลายพันต่อวัน เหลือเพียงต่ำกว่าร้อยคนต่อวันในปัจจุบัน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพียง 1-2 คนต่อวัน
ในขณะที่ไทยเรากดการระบาดได้น้อย ลดจากสองหมื่นกว่า เหลือหมื่นกว่าต่อวันอย่างต่อเนื่อง มากกว่า UAE 100 เท่า อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจนั้น ไทยมากกว่า UAE 200 เท่า และจำนวนผู้เสียชีวิต 70-80 คนต่อวัน ไทยมากกว่าเค้าหลายสิบเท่า 

 

ความแตกต่างกันระหว่างไทยกับ UAE

ความแตกต่างกันระหว่างไทยกับ UAE คือ เรื่องวัคซีนทั้งชนิด วิธีใช้ และความครอบคลุม โดยไทยเรามีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสน้อยกว่า UAE ถึงครึ่งหนึ่ง 
รวมถึงสิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ ศักยภาพในการตรวจคัดกรองโรค ซึ่งที่ UAE ตรวจคัดกรองจำนวนมากกว่าไทยอย่างมาก โดยเค้าตรวจ 30 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ไทยตรวจ 0.6 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน
ปัจจัยเรื่องนโยบายและการจัดการเรื่องวัคซีน และศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรคนั้นจึงเป็นเหตุผลอธิบายความแตกต่างของสถานการณ์ระบาด
ล่าสุด Moghnieh R และคณะ จากประเทศเลบานอน ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับสากล Vaccine วันที่ 13 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยประเมินผลของการฉีด Pfizer/Biontech เป็นเข็มกระตุ้นในกลุ่มประชากรที่ได้รับวัคซีน Sinopharm ไปครบสองเข็มแล้วภายใน 3 เดือน พบว่ามีความปลอดภัย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 8,040 BAU/ml (ช่วงความเชื่อมั่น 4,612-14,016) ณ 14 วันหลังฉีดเข็มกระตุ้น

ข้อมูลจากเลบานอนนี้ อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์สำหรับคนที่ได้รับวัคซีน Sinopharm ไปว่า การฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA นั้นมีข้อมูลจากทั้งใน UAE ว่าคุมการระบาดได้ดี อัตราการตายน้อย และงานวิจัยจากเลบานอนที่ชี้ให้เห็นว่ากระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้ดี และมีความปลอดภัย
แม้จากทั้งสองกรณีจะเป็น Pfizer/Biontech แต่ในประเทศไทยนั้นวัคซีนทางเลือกที่เราจองกันไว้คือ Moderna ซึ่งเป็นกลุ่ม mRNA vaccine เหมือนกัน 
อย่างไรก็ตาม แต่ละยี่ห้อนั้นมีขนาดแตกต่างกัน อาจมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่ต่างกันได้เช่นกัน คงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิง
Moghnieh R et al. Immunogenicity and reactogenicity of BNT162b2 booster in BBIBP-CorVvaccinated individuals compared with homologous BNT162b2 vaccination: Results of a pilot prospective cohort study from Lebanon. Vaccine. 2021 Oct 13;S0264-410X(21)01314-1.

หมอธีระ เผย ความแตกต่างกันระหว่างไทยกับ UAE