เนื่องจากรัฐบาลเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุ 12-18 ปี ทุกคน ทุกสังกัด จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน เริ่มฉีดวัคซีนเดือนตุลาคม 2564 ผ่านสถาบันการศึกษา ครอบคลุม ทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมรองรับกรณีที่อาจจะมีการเปิดภาคเรียน
ล่าสุดทางเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้โพสต์ข้อความ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ระบุว่า
3 กรณี เกิดผลข้างเคียงนักเรียนหลังฉีดวัคซีนโควิด ยื่นเรื่องรับเงินช่วยเหลือ
1. ต้องรักษาอาการป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท
2. สูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท
3. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท
ทั้งนี้ หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย
-กรมควบคุมโรคเผย 4 อาการเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีนนักเรียน
-ผู้ปกครองเฝ้าระวังอาการ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดไฟเซอร์ให้นักเรียน
-รัฐบาลจ่ายให้ "นักเรียน" เท่าไร ต่อคนต่อปี เงินเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน
เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย สอบถามรายละเอียด สายด่วน สปสช. 1330
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews