จับตา "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ส่อถอยไปเป็นการสงเคราะห์ จ่ายแค่เฉพาะกลุ่ม
จับตาใกล้ชิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ส่อถอยหลังกลับไปเป็นการสงเคราะห์ เล็งพิจารณาเเนวทางนโยบายใหม่ อาจเหลือแค่จ่ายเฉพาะกลุ่ม
จากกรณีการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ(ใหม่) ครั้งที่ 1/2564 เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พร้อมทั้งพิจารณาข้อหารือกระทรวงวัฒนธรรม กรณีบุคคลต้องห้ามมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมี นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน รองประธานอนุกรรมการ เป็นประธานในการประชุม นางอภิญญา ชมภูมาศ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางศิริลักษณ์ มีมาก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการกอง/กลุ่ม ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
โดยทางเพจ บำนาญแห่งชาติ ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า แหล่งข่าว ให้ข้อมูลว่า ผลจากกรณีที่มีการเรียกเก็บเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนรวมดอกเบี้ย จากการได้รับบำนาญพิเศษตกทอดมาจากบุตรนั้น ได้มีการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และแนะนำว่า เพื่อไม่ให้เกิดการจ่ายเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อน ก็ต้องไม่ให้แบบถ้วนหน้า ทางกรมฯ จึงได้ประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อกำหนดการจ่ายเบี้ยยังชีพแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะให้จ่ายเบี้ยยังชีพเฉพาะกลุ่มคนยากจน
ด้านนางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (Welfare Watch Network) ให้ความเห็นว่า หากมีมติออกมาเป็นเช่นนั้นจริง ยิ่งตอกย้ำว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพ ที่ดำเนินการด้วยนโยบายภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ในขณะที่ภาคประชาชนเสนอให้จัดทำ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่เน้นการยืนยันสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กลับถูกปัดตก ทั้งนี้ หากคณะกรรมการฯ มีมติให้กลับไปจ่ายเบี้ยยังชีพเฉพาะคนจนจริง คนที่ต้องตอบคำถามกับประชาชนคือนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ปล่อยให้นโยบายเบี้ยยังชีพที่ให้กับผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้ามาตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถอยหลังกลับไปเป็นการสงเคราะห์
“เป็นรัฐมนตรีคุมกระทรวงคุณภาพชีวิต แต่กลับไม่ปกป้องคุณภาพชีวิตของคน ทั้งที่ควรแสดงความกล้าหาญทางนโยบาย เปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญอย่างถ้วนหน้า ในยุคที่ประชาชนยากลำบากอย่างที่สุด” ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายประชาชนฯ ได้ทำหนังสือขอสำเนาการประชุม จากอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อติดตามความคืบหน้า และมติการประชุมต่อมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อน แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากทางกรมฯ แต่อย่างใด
ขอบคุณ
บำนาญแห่งชาติ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews