วิจารณ์สนั่น เสนอตัดเบี้ยผู้สูงอายุ จ่ายเฉพาะคนจน อ้างประหยัดงบ

18 กันยายน 2564
24

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับการเสนอ ตัดเบี้ยผู้สูงอายุ จ่ายเฉพาะคนจนไม่แจกถ้วนหน้า อ้างประหยัดงบ ชี้รัฐถอยหลังลงคลอง

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64 เพจเฟซบุ๊ก บำนาญแห่งชาติ ได้โพสต์เรื่องราวเปิดเผยแหล่งข่าวคนหนึ่ง ถึงการหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ(ใหม่) ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานอนุกรรมการคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (ผส.) เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏข้อหารือสำคัญคือ การหารือเพื่อกำหนดการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งระบุว่า ภาครัฐอาจจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เฉพาะกลุ่มคนยากจนเท่านั้นในอนาคต ไม่จ่ายแบบถ้วนหน้าอย่างในปัจจุบัน

เสนอตัดเบี้ยผู้สูงอายุ

โดย แหล่งข่าวคนดังกล่าวให้ข้อมูลว่าการสาเหตุของเรื่องนี้ว่าเป็นเพราะที่ผ่านมามีการเรียกเก็บเงินยังชีพผู้สูงอายุคืน พร้อมดอกเบี้ย จากการได้รับบำนาญพิเศษตกทอดมาจากบุตร จึงไม่อยากให้เกิดการจ่ายเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อน ดังนั้นจึงไม่พบว่าจำเป็นต้องจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า เพื่อจะไม่เปลืองงบประมาณ แหล่งข่าวยังเผยอีกว่า กรมกิจการผู้สูงอายุจึงประชุมเพื่อหารือกับคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายแทนการจ่ายแบบถ้วนหน้า

 

ด้านนางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (Welfare Watch Network) ให้ความเห็นว่า หากมีมติออกมาเป็นเช่นนั้นจริง ยิ่งตอกย้ำว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพ ที่ดำเนินการด้วยนโยบายภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ในขณะที่ภาคประชาชนเสนอให้จัดทำ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่เน้นการยืนยันสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กลับถูกปัดตก ทั้งนี้ หากคณะกรรมการฯ มีมติให้กลับไปจ่ายเบี้ยยังชีพเฉพาะคนจนจริง คนที่ต้องตอบคำถามกับประชาชนคือนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ปล่อยให้นโยบายเบี้ยยังชีพที่ให้กับผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้ามาตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถอยหลังกลับไปเป็นการสงเคราะห์

 

เสนอตัดเบี้ยผู้สูงอายุ

ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ยังกล่าวอีกว่า เป็นรัฐมนตรีคุมกระทรวงคุณภาพชีวิต แต่กลับไม่ปกป้องคุณภาพชีวิตของคน ทั้งที่ควรแสดงความกล้าหาญทางนโยบาย เปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญอย่างถ้วนหน้า ในยุคที่ประชาชนยากลำบากอย่างที่สุด


นอกจากนี้ ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ยังเผยอีก เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ทางเครือข่ายได้ทำหนังสือขอสำเนาการประชุม จากอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อติดตามความคืบหน้า และมติการประชุมต่อมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อน แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับทางจากกรมฯ แต่อย่างใด

 

ขอบคุณ FB : บำนาญแห่งชาติ

 

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews