สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จัดงานแถลงข่าว "เปิดตัว 5 มาตรฐานอาชีพใหม่ รองรับการพัฒนากำลังคนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" ผ่านออนไลน์ ทั้งทางระบบ Zoom Conference และ Facebook Fanpage สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 สาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นตัวแทนคณะผู้จัดทำมาตรฐานอาชีพที่เป็นความต้องการเร่งด่วนของผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม มาร่วมเจาะลึกรายละเอียดของมาตรฐานอาชีพแต่ละสาขา ได้แก่
1. สาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า (ระยะที่ 2)
2. สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาจิตวิทยา
3. สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน
4. สาขาวิชาชีพอนุรักษ์พื้นบ้านและศิลปหัตถกรรม (ระยะที่ 2) (งานศิลป์แผ่นดิน)
5. สาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์การกีฬา อาชีพมวยไทย
ปริญญาอาชีพ คำตอบของโลกยุคใหม่
นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวในทิศทางต่างๆอย่างชัดเจน สคช. จึงได้ใช้วิกฤตนี้ในการเตรียมความพร้อมกำลังคนในอาชีพ ด้วยทักษะและองค์ความรู้ที่จะมารองรับทุกการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับปริญญาอาชีพหรือคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเทียบเท่าหรือมากกว่าใบปริญญา ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานอาชีพจึงเป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์ในการวัดสมรรถนะของบุคคล ทำให้เกิดการยกระดับความสามารถของคนในอาชีพได้อย่างที่สากลให้การยอมรับ ซึ่งจะเป็นช่องทางการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้คนในอาชีพ และยังเป็นการเตรียมบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อีกด้วย
ปัจจุบัน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพกว่า 835 อาชีพ ใน 52 สาขาวิชาชีพ มีผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพแล้วกว่า 200,000 คน โดยในปี 2564 มีเป้าหมายในการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพที่เป็นความต้องการเร่งด่วน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยหวังว่าการแถลงข่าว 5 มาตรฐานอาชีพใหม่ในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพไปพัฒนาขีดความสามารถของบุคคล เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่ผันแปรได้ตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคม
5 มาตรฐานอาชีพใหม่ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ
นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า
ในปีงบประมาณ 2564 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ต่อยอดเติมเต็มมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้
1. สาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า (ระยะที่ 2) เป็นการเสริมสร้างศักยภาพและบทบาทความเป็นผู้นำในธุรกิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่ร่วมกับสถาบันฯ จัดทำมาตรฐานอาชีพดังกล่าว
2. สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาจิตวิทยา เป็นการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพื่อรองรับบุคลากรด้านจิตวิทยาสาขาอื่น ๆในไทย นอกเหนือจากอาชีพนักจิตวิทยาคลินิกที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ อาทิ บุคลากรด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็กและผู้สูงวัย รวมทั้งการปฏิบัติงานเบื้องต้นด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยา โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐานอาชีพดังกล่าว
3. สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขางานระบบส่งกระแสไฟฟ้า และสาขางานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ
เป็นการทำงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะสร้างกลไกการรับรองกำลังคนให้มีประสิทธิภาพสู่ระดับสากล โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาโครงการในการจัดทำมาตรฐานอาชีพนี้
4. สาขาวิชาชีพอนุรักษ์พื้นบ้านและศิลปหัตถกรรม (ระยะที่ 2) (งานศิลป์แผ่นดิน) เป็นการทำงานร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ในการสงวนรักษาองค์ความรู้ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของประเทศ อันเป็นเอกลักษณ์ทางความงามเฉพาะด้านของไทย ซึ่งเกี่ยวเนื่องทั้งช่างหัวโขน ช่างพัสตราภรณ์ ช่างเขียน ช่างปูนปั้น ช่างรัก โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐานอาชีพดังกล่าว
5. สาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์การกีฬา อาชีพมวยไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งสามารถนําไปประกอบเป็นอาชีพ พร้อมทั้งพัฒนาสู่รูปแบบธุรกิจระดับสากล ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบธุรกิจมวยไทยได้ต่อยอดจากมวยไทยเพื่อการแข่งขัน เป็นมวยไทยเพื่อการออกกำลังกายและการป้องกันตัว ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐานอาชีพดังกล่าว
เจาะลึกมาตรฐานกับผู้เชี่ยวชาญ 5 สาขา
งานแถลงข่าวในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 สาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นตัวแทนคณะผู้จัดทำมาตรฐานอาชีพ มาร่วมเจาะลึกและฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดทำมาตรฐานอาชีพ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมไทย มีรายนามดังนี้
1) นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตัวแทนจากสาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า (ระยะที่ 2)
2) รศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากสาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาจิตวิทยา
3) ผศ.ดร.กูสกานา กูบาฮา คณบดีคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนจากสาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน
4) ผศ.ดร.สุภากร ภิญโญฉัตรจินดา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ตัวแทนจากสาขาวิชาชีพอนุรักษ์พื้นบ้านและศิลปหัตถกรรม (ระยะที่ 2) (งานศิลป์แผ่นดิน)
5) ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย เศรษฐ์อนวัช รองอธิการบดีฝ่ายบริหารยุทธศาสตร์และวางแผนพัฒนา มหาวิทยาลัยบูรพา ตัวแทนจากสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์การกีฬา อาชีพมวยไทย
เข้าสู่การประเมินง่ายๆผ่านออนไลน์
นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า ปัจจุบันแต่ละมาตรฐานกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำวิธีการประเมินหรือเครื่องมือประเมินว่า ผู้ที่เข้ามาขอรับคุณวุฒิวิชาชีพมีสมรรถนะสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในแต่ละอาชีพก็จะมีบริบทแตกต่างกันไป
โดยทั่วไปการประเมินอาจประกอบด้วยข้อเขียนทฤษฎี การสัมภาษณ์ รวมถึงการยื่นเอกสารองค์ประกอบต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการประเมินอีกส่วนหนึ่งที่ เรียกว่า "การประเมินแบบเทียบโอนประสบการณ์" เพื่อรองรับคุณวุฒิวิชาชีพให้แก่บุคลากรที่ทำงานอยู่ในอาชีพและมีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับมาตรฐานอยู่แล้ว โดยสามารถยื่นเอกสารหลักฐานผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับองค์กรรับรอง (Certification Body) ซึ่งได้ทำการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในแต่ละวิชาชีพ เนื่องจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพไม่ได้มีหน้าที่ประเมินเอง
สำหรับรูปแบบการสัมภาษณ์หรือการติดตามประเมินในปัจจุบันมีการใช้รูปแบบออนไลน์เข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้คนในอาชีพสามารถเข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพได้สะดวก ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้ามารับการประเมินโดยตรง
ทั้งนี้ ตลอดปีงบประมาณ 2564 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมกับเครือข่ายในระบบคุณวุฒิวิชาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพ ยึดโยงกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและรองรับความต้องการกำลังคนอย่างเร่งด่วนของตลาดแรงงาน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานอาชีพ และมืออาชีพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของกำลังคนในประเทศให้เทียบเท่าระดับสากล อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน