สังคม

heading-สังคม

ย้อนคำพูด"ทมยันตี" ฉันเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์ในหลวง

13 ก.ย. 2564 | 20:14 น.
ย้อนคำพูด"ทมยันตี" ฉันเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์ในหลวง

ย้อนคำสัมภาษณ์ "ทมยันตี" คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ฉันเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์ในหลวง นั่นคือรางวัลสูงสุดในชีวิต

    นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของวงการวรรณกรรมไทยเเละวงการบันเทิง เมื่อนักเขียนดังชั้นครู เจ้าของนามปากกา"ทมยันตี" จากไปอย่างสงบในวัย 85 ปี โดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการจากไปของ ป้าอี๊ด คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทมยันตี

  สำหรับป้าอี๊ด ครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "ฉันเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาแล้ว นั่นคือรางวัลสูงสุดในชีวิต จากนั้นไม่เคยอยากได้รางวัลใด ๆ อีกเลย" 
 

ทมยันตี

 ที่สำคัญ ทมยันตี ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต่างๆดังนี้
-เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
-เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
-เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
-เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)
 


เปิดประวัติ "ทมยันตี" มีชื่อจริงว่า คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ชื่อเล่นว่า อี๊ด เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรีคนใหญ่ของทองคำ และไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชายหนึ่งคน และมีน้องสาวหนึ่งคน ตระกูลฝ่ายบิดาเป็นทหารเรือ ตระกูลฝ่ายมารดาเป็นชาววัง
 

จบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับสมัคร สุนทรเวช และชวน หลีกภัย เธอใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่ง เธอตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้เธอสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน 

ทมยันตี

ในขณะศึกษาระดับชั้นปีที่สาม เพื่อนของเธอได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เธอจึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาเธอจึงเลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ป้าอี๊ดเริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์

ทมยันตี

เธอได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายทหาร และมักสนับสนุนระบอบทหาร โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 วิมลมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพลและแม่บ้าน กับทั้งเคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ คือ สหรัฐ

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ป้าอี๊ดได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในปีถัดมา และได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ปี พ.ศ. 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา, และปี พ.ศ. 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ


ป้าอี๊ดนิยมใช้สำนวนภาษาตามแบบหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) และนักเขียนสตรีรุ่นเก่าอย่าง ร. จันทพิมพะ
นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น คู่กรรม ทั้งสองภาค ดั่งดวงหฤทัย ทวิภพ คำมั่นสัญญา ดาวเรือง รอยอินทร์ ร่มฉัตร เลือดขัตติยา ในฝัน เป็นต้น นวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คู่กรรม ภาคหนึ่ง

ทมยันตี

ป้าอี๊ดมี6ชื่อนามปากกา   ได้แก่

1. โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า "กุหลาบราชินี" ใช้เขียนเรื่องรักพาฝันหรือจินตนิยาย วิมลกล่าวว่านามปากกานี้นำมาจากชื่อนางเอกซึ่งเป็นนักร้องโอเปร่าในเรื่องสั้นของหลวงวิจิตรวาทการ นามปากกานี้ใช้ครั้งแรกในนวนิยายเรื่อง "ในฝัน"


2. ลักษณวดี ใช้สำหรับเขียนนวนิยายรัก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย คำว่า "ลักษณวดี" มีความหมายว่า "นางผู้มีลักษณะดี , นางผู้งามเลิศ" วิมลนำชื่อ "ลักษณวดี" ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีและเป็นมเหสีของพระลอดิลกราชจากวรรณคดีเรื่อง "ลิลิตพระลอ"


3. กนกเรขา ใช้สำหรับแต่งเรื่องตลกเบาสมอง คำว่า "กนกเรขา" แปลว่า "อักษรอันวิจิตร" วิมลนำชื่อ "กนกเรขา" ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีเรื่อง "กนกนคร" ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระนามเดิม คือ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) มาใช้เป็นนามปากกา


4. ทมยันตี (อ่านว่า ทะ-มะ-ยัน-ตี) แปลว่า "นางผู้มีความอดทนอดกลั้น" เป็นนางในวรรณคดีเรื่อง "พระนลคำหลวง" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนามปากกาที่ใช้แต่งเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตและสังคม รวมทั้งแต่งเรื่องราวแนวจิตวิญญาณ วิมลเริ่มใช้นามปากกานี้ในการประพันธ์นวนิยายเรื่อง "รอยมลทิน" เป็นเรื่องแรก

ทมยันตี

5. มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ และเคยใช้นามปากกานี้เขียนคอลัมน์ "สนธยากาล" ลงในนิตยสารขวัญเรือน (ภายหลังนิตยสารขวัญเรือนได้เลิกกิจการ คุณหญิงวิมลได้เขียนเรื่องราวดังกล่าวข้างต้นลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ล้านนาเทวาลัย"


6. วิม-ลา เป็นนามปากกาล่าสุดใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ล้านนาเทวาลัย" โดยเริ่มเขียนเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562

 

ขอบคุณ
ดาราภาพยนตร์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews

ข่าวเด่น

เปิด 2 ราศี ดวงพุ่งฉุดไม่อยู่ มีโชคใหญ่ มาแรงส่งท้ายปี

เปิด 2 ราศี ดวงพุ่งฉุดไม่อยู่ มีโชคใหญ่ มาแรงส่งท้ายปี

พิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล เพื่อบูรณะพระมหาโพธิเจดีย์พุทธคยา

พิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล เพื่อบูรณะพระมหาโพธิเจดีย์พุทธคยา

ส่องเลขขันน้ำมนต์ พิธีปลุกเสกเหรียญหลวงปู่คำไหล ลุ้นโชคงวด 1 ธ.ค. 67

ส่องเลขขันน้ำมนต์ พิธีปลุกเสกเหรียญหลวงปู่คำไหล ลุ้นโชคงวด 1 ธ.ค. 67

รวบตัว หนุ่มคลั่งไล่ยิงชาวบ้าน หญิงสูงวัยดับ 1 ราย พร้อมเปิดปมสลด

รวบตัว หนุ่มคลั่งไล่ยิงชาวบ้าน หญิงสูงวัยดับ 1 ราย พร้อมเปิดปมสลด

"หมอช้าง" 1 ราศีโชคลาภติดอันดับปี 2568 การงานก้าวหน้า ความสำเร็จรออยู่

"หมอช้าง" 1 ราศีโชคลาภติดอันดับปี 2568 การงานก้าวหน้า ความสำเร็จรออยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง