กรณีที่ได้มีเอกสารหลุดจากการประชุมเฉพาะกิจคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เเละคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งสรุปแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ ที่คาดว่าจะมาถึงประเทศไทยเดือน ก.ค. จำนวน 1.5 ล้านโดส และในไตรมาส 4 อีก 20 ล้านโดส
โดยมติที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับระยะแรก จำนวน 1.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ทั้งหมดแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในพื้นที่ที่มีเชื้อโควิด-19ระบาดรุนแรง กทม.-ปริมณฑล เเต่ค้านไมได้ฉีดเป็นวัคซีนเข็ม3ให้บุคลากรทางการเเพทย์ ท่ามกลางกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่
ทั้งนี้มีเนื้อหาบางตอนในเอกสารระบุว่า การฉีดและกระจายวัคซีนไฟเซอร์ มีการหารือแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม 3 ทางเลือก คือ
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์
กลุ่มที่สาม คือ บุคลากรด่านหน้า บุคลาการทางการแพทย์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเป็นการฉีดเข็ม 3 เพราะบุคลากรด่านหน้ามีความเสี่ยงสูง และต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด ประกอบกับที่ผ่านมา มีบุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว แต่ยังติดเชื้ออยู่ โดยข้อเสนอการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับบุคลากรด่านหน้า มีหลายเสียงให้การสนับสนุน
เเละมีสาเหตุหนึ่งที่ไม่ยอมฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้าก็คือ "หากฉีดจะเท่ากับยอมรับว่าซิโนแวคไม่มีผลต่อการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากขึ้น"
ความคืบหน้าล่าสุดในวันนี้ 5 ก.ค.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยอมรับเอกสารการประชุมพิจารณาวัคซีนไฟเซอร์ที่หลุดออกมาเผยแพร่ในสื่อออนไลน์เป็นเอกสารในการประชุมงานวิชาการจริง แต่เป็นเพียงข้อเสนอจากคณะกรรมการวิชาการเท่านั้น ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติจริง ย้ำยังไม่ได้ข้อสรุป