เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ทางเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เผยว่า
ประเทศจีนส่งนักบินอวกาศ 3 คนขึ้นไปปฏิบัติงานในสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนที่กำลังโคจรรอบโลก
นักบินอวกาศจีน 3 คน ประกอบด้วย เนี่ย ไห่เซิง (Nie Haisheng) หลิว ปั๋วหมิง (Liu Boming) และทัง หงปัว (Tang Hongbo) จะปฏิบัติงานและอาศัยอยู่ในสถานีอวกาศเทียนกง ซึ่งโคจรอยู่รอบโลกที่ระดับความสูงประมาณ 380 กิโลเมตร เป็นเวลา 3 เดือน นับเป็นภารกิจสำหรับนักบินอวกาศที่ยาวนานที่สุดและเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปีของประเทศจีน
ยานบรรทุกนักบินอวกาศเสินโจว-12 (Shenzhou-12) ทะยานขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดลองมาร์ช 2F จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนในทะเลทรายโกบี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 8:22 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ก่อนที่ยานจะเข้าเทียบท่ากับสถานีอวกาศเทียนกงในอีก 7 ชั่วโมงต่อมา
ภายในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ส่งยานเพื่อนำตัวอย่างดินและหินจากพื้นผิวดวงจันทร์กลับมายังโลก และส่งรถสำรวจไปลงจอดบนดาวอังคาร ซึ่งทั้งสองภารกิจถือว่าเป็นภารกิจอวกาศที่ซับซ้อนและท้าทายสำหรับจีนอย่างมาก
นักบินอวกาศในภารกิจนี้จะทำอะไรในอวกาศ?
เป้าหมายหลักของภารกิจเสินโจว-12 คือ การเริ่มใช้งานสถานีอวกาศเทียนกง โดยมีเนี่ย ไห่เซิง เป็นผู้บัญชาการภารกิจ เขากล่าวไว้ก่อนเริ่มปล่อยจรวดว่าตนมีความคาดหวังกับภารกิจหลายอย่าง ทั้งการจัดเตรียมบ้านหลังใหม่ของพวกเขาในอวกาศ ทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดังนั้น ภารกิจครั้งนี้จึงยากและท้าทาย และเชื่อว่าพวกเขาทั้งสามจะเอาชนะความท้าทายในภารกิจครั้งนี้ได้สำเร็จ
สถานีอวกาศเทียนกงที่ยานเสินโจว-12 เทียบท่าครั้งนี้จะมีเฉพาะโมดูลหลักชื่อ "เทียนเหอ" มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกยาว 16.6 เมตร กว้าง 4.2 เมตร หนัก 22.5 ตัน ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 หลังจากนั้นจะเริ่มส่งส่วนประกอบหรือโมดูลอื่น ๆ ไปเชื่อมต่อภายใน 2 ปีหลังจากนี้ หากต่อโมดูลต่าง ๆ ครบแล้ว สถานีอวกาศเทียนกงจะหนักถึงเกือบ 70 ตัน ทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศ และห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยระหว่างนี้จะมีการส่งสัมภาระและนักบินอวกาศไปประจำเป็นระยะ
เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับทีมนักบินอวกาศจีนในภารกิจนี้?
ทางการจีนเพิ่งจะเปิดเผยข้อมูลนักบินอวกาศในภารกิจนี้เพียง 1 วันก่อนการส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยเนี่ย ไห่เซิง อายุ 56 ปี ที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจ มีอาชีพเป็นนักบินเครื่องบินรบ ถือเป็นนักบินอวกาศชาวจีนที่มีอายุมากที่สุดที่ทำภารกิจในอวกาศ และเคยปฏิบัติภารกิจอวกาศก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง รวมถึงภารกิจนาน 15 วันที่ไปสถานีอวกาศเทียนกง-1 สถานีอวกาศต้นแบบของจีน เมื่อปี พ.ศ. 2556
ขณะที่นักบินอวกาศร่วมทีมประกอบด้วย หลิว ปั๋วหมิง (อายุ 54 ปี) และทัง หงปัว (อายุ 45 ปี) ทั้งคู่มีพื้นเพมาจากกองทัพอากาศจีน หลิวเคยร่วมภารกิจเสินโจว-7 ในปี พ.ศ. 2551 ขณะที่ทังเป็นนักบินอวกาศน้องใหม่ที่ไม่เคยร่วมภารกิจอวกาศมาก่อน
อาหาร เชื้อเพลิง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อทีมนักบินอวกาศเพื่อการอยู่อาศัยในสถานีอวกาศเทียนกง ถูกส่งขึ้นไปกับยานส่งสัมภาระเมื่อเดือนที่แล้ว และยานลำดังกล่าวยังคงเทียบท่ากับสถานีอวกาศอยู่ เพื่อรอให้นักบินอวกาศทั้งสามนำสัมภาระเหล่านี้ออกมาใช้งานระหว่างที่อยู่ในสถานีอวกาศนี้
ทางหน่วยงานอวกาศของจีนเปิดให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในสถานีอวกาศเทียนกงด้วย สำหรับทดลองทางวิทยาศาสตร์ของภารกิจครั้งนี้ นักบินอวกาศจะทำการทดลองเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่เป็นชุดการทดลองของประเทศนอร์เวย์ และติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่พัฒนาโดยประเทศอินเดีย สำหรับถ่ายสเปกตรัมทางดาราศาสตร์ เพื่อใช้ศึกษารังสีอัลตราไวโอเลตจากห้วงอวกาศลึก
ในระยะยาว ทางจีนอาจเปิดให้นักบินอวกาศสัญชาติอื่นสามารถมาปฏิบัติภารกิจในสถานีอวกาศเทียนกงด้วย ซึ่งทางประเทศรัสเซีย ในฐานะประเทศที่แบ่งปันเทคโนโลยีกับจีนในอดีต ได้กล่าวว่าอาจส่งนักบินอวกาศชาวรัสเซียไปยังสถานีอวกาศเทียนกง
นอกจากนี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการขององค์กรด้านเที่ยวบินอวกาศที่มีนักบินอวกาศของจีน กล่าวว่า ทางจีนต้อนรับความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งหลังจากสถานีอวกาศเทียนกงต่อเติมเสร็จแล้วในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นนักบินอวกาศชาวจีนและชาวต่างชาติทำงานร่วมกันที่นี่
ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ