หมอเล่าประสบการณ์ วินาทีที่ต้องเลือกให้ออกซิเจนคนไข้

25 มิถุนายน 2564
1

เพจเฟซบุ๊ก วันนี้ชั้นติ่งอะไร ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องระบบสาธารณสุข หลังจากที่มีกระแสข่าวออกมาว่า เมืองไทยกำลังจะถึงขีดจำกัดในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากที่หลายโรงพยาบาลกำลังประสบปัญหาภาวะเตียงเต็ม

ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความระบุว่า.. ล่มสลายของเราไม่เท่ากัน : เกิดอะไรขึ้นกับห้องฉุกเฉินในกรุงเทพฯ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย หลายปีก่อนเกิดการระเบิดขึ้นในกรุงเทพฯ วันนั้นเราเป็นชีฟเวรห้องฉุกเฉิน ได้รับคำสั่งให้ทำการเคลียร์เตียงเพื่อรองรับผู้บาดเจ็บจำนวนมหาศาล เราหันไปมองรอบตัว คนไข้จากทั่วสารทิศนอนกองเรียงรายเต็มทางเดิน เป็นเวลานานมากแล้ว

ที่ระบบสาธารณสุขของ กทม. หมิ่นเหม่ “ล่มสลาย” เตียงเต็มตลอดเวลา ผู้ป่วยจึงคาอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน นอนเรียงรายกันไป แต่เราก็ประคับประคอง ทำทุกทางเท่าที่เราทำได้ หลายปีผ่านไป เรื่องเหล่านี้กลายเป็นกิจวัตรที่ดูธรรมดา มีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดนอนรอเตียงในห้องฉุกเฉินถึง 20 วัน

 

กระทั่งหายป่วยกลับบ้านได้โดยไม่เคยขึ้นไปถึงหอผู้ป่วยเลย เคยมีคนจมน้ำถึงขั้นปั๊มหัวใจ แต่ก็ใส่ท่อนอนรอเตียง กระทั่งเอาท่อออก กระทั่งได้กลับบ้านและนัดมากายภาพ โดยไม่เคยขึ้นไปถึงหอผู้ป่วยเลย เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปกติธรรมดา แต่เป็นเรื่องบ้าบอที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นความธรรมดาไป หลายปีผ่านไป สิ่งเหล่านั้นยังเหมือนเดิม ในวันนั้นเราทำการถอดออกซิเจนออกจากคนไข้บางคน เพื่อเอามาให้อีกบางคน

เดือนกว่าที่ผ่านมา เกิดคลัสเตอร์การระบาดรอบใหม่ในกรุงเทพฯ ช่วงแรกเราเฝ้ารอ รอดูว่ากรุงเทพฯเตรียมพร้อมไว้อย่างไร ตลอดปีกว่าที่ผ่านมา เราและด่านหน้าตามแนวชายแดนทำงานหนักสกัดโรคไว้ ไม่ว่าจะเกิดกี่คลัสเตอร์ ก็พยายามดักจับ ตีวง จบคลัสเตอร์เหล่านั้นลงให้จงได้ และภูมิใจว่าตนเป็นปราการด่านสำคัญ ปกป้องศูนย์กลางของประเทศ อุ้มชูเศรษฐกิจให้เดินหน้า

หวังเพียงว่า ส่วนกลางจะใช้เวลาที่ซื้อให้นี้เตรียมพร้อมสู้ศึกใหญ่ แต่กรุงเทพฯกลับไม่เป็นอย่างที่คิด ยังคงอ่อนแอเปราะบางเหมือนอย่างวันนั้น ห้องฉุกเฉินยังคงเต็มไปด้วยผู้คนคราคร่ำ นอนแออัดกัน รอการรักษาอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

“เป็นไง” หลังเห็นตัวเลขที่ค่อยๆไต่ขึ้น เราต่อสายหาเพื่อนที่ห้องฉุกเฉินในรพ.ตู้ซ่อนผีของกรุงเทพฯ เราหวังจะพบคำตอบจากเพื่อนที่ปกติสดใสพูดมาก ทำนองว่า เฮ้ย หนักมาก พลางบ่นกะปอดกะแปดหาที่ระบาย แต่ปลายสายกลับเงียบไป ก่อนจะตอบกลับมา…ด้วยเสียงร้องไห้

เราปล่อยให้ร้องไปแบบนั้นอยู่พักหนึ่ง จำนวนผู้ป่วยทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าตกใจคือจำนวนผู้ป่วยระดับเหลืองและแดงที่มากกว่ารอบก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ การมีโรงพยาบาลสนาม อาจพอช่วยผู้ป่วยสีเขียว ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และรักษาทันเมื่ออาการทรุดลงได้ แต่ส่วนมากไม่สามารถดูแลเคสสีเหลือง ซึ่งต้องการออกซิเจนได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเคสสีแดงระดับวิกฤติ ที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจ และการดูแลยังใกล้ชิดระดับ ICU

เมื่อเตียงเต็ม ผู้ป่วยสีเขียวอาจพอกลับบ้านได้ แต่ผู้ป่วยสีเหลืองหรือแดง ไม่อาจไปไหนได้ จึงค้างอยู่ในห้องฉุกเฉินจนกว่าจะจากกันไปด้วยวิธีแตกต่างกัน “ไปป์ออกซิเจนหมดทุกเวร” เพื่อนเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น “เราก็เลือกเอา บางทีเราก็เลือกไม่เอาคนแก่ติดเตียง เอาให้เด็ก” เงียบไปครู่หนึ่งก่อนพูดต่อ “แล้วเค้าก็ไป”

เพื่อนเงียบ เราก็เงียบ ความรู้สึกนั้น เราเข้าใจ ทุกเช้าจะมียอดเตียงว่างโผล่ขึ้นมาในระบบ ข่าวก็ออกว่าเรายังมีเตียงรองรับได้ แต่ช่วงสาย เตียงพวกนั้นก็จะหายไป เพราะค่อยๆรับคนไข้ที่ค้างจากห้องฉุกเฉินขึ้นไปทีละคนสองคน

“แต่คนไข้ไม่หมดนะ ที่เหลือก็ค้างER แต่นับยอดยังไงไม่รู้” เพื่อนอีกคนที่ไม่เจอกันนานเหมือนกันเล่าต่อ “แล้วสายๆก็มาเพิ่ม ก็คงบ้านที่เราตรวจเจอเมื่อหลายวันก่อนแหละ” สภาพสังคมกรุงเทพฯ ถ้าไม่ใช่คนโสดอยู่คนเดียว ก็คือครอบครัวที่รวมกันในที่เล็กๆ คนหนึ่งติด อีกคนจะไม่ติดได้อย่างไร ยิ่งอยู่กันแบบเมืองใหญ่ ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีส่วนกลางที่เข้มแข็งพอจะดูแล 

“แถมบางคนก็มาตอนแย่แล้ว ทำไมรู้มั้ย...” เราส่งเสียงไปตามสาย พอให้รู้ว่ารอฟัง “ก็ไม่มีที่ไหนยอม PCR ไง ใครทำก็รับไปหาเตียง” เพื่อนสบถออกมาอีกคำสองคำ ยอดเตียงที่ขึ้นตอนเช้าพอให้ได้ออกข่าว มันไม่ใช่เตียงว่าง คำว่าเตียงช่างสวยงาม แต่ไม่มีอยู่จริง

2-3 วันที่ผ่านมา เริ่มมีคนแปลกหน้าเข้ามาขอตรวจที่ รพ. บ้างก็เล่าเรื่องญาติกลับจากต่างจังหวัด บ้างก็ว่าทำงานไปๆกลับๆ แต่ถามไปถามมาต่างก็ยอมรับ ว่าพวกเขาเหล่านั้นหนีกลับจากกรุงเทพฯ เพราะหาที่ตรวจรักษาไม่ได้อีกแล้ว เรารับทุกคนเข้านอนในรพ. ยอดผู้ป่วยเริ่มพุ่งขึ้นอีกครั้งอย่างน่ากังวลใจ 

โรงพยาบาลเล็กๆทั่วประเทศ กำลังจะเผชิญผึ้งแตกรัง กำลังจะพบผู้ป่วยหนีตาย พวกเขาเหล่านั้นจะมีกำลังพอยันได้นานแค่ไหน ยังไม่พูดถึงว่าบางส่วนถูกตัดกำลังไป เพื่อมาดูแลผู้ป่วยในกรุงเทพฯและหัวเมืองที่รับคลัสเตอร์ใหญ่ๆนานแล้ว นี่อาจเป็นจุดตายที่ผู้ใหญ่ไม่เคยนึกถึง

หลายเดือนมาแล้ว ที่หมอตัวเล็กตัวน้อยรวมถึงเรา(ในชีวิตจริง)พยายามส่งเสียง ให้ผู้ใหญ่หลายฝ่ายได้รับทราบ กรุงเทพฯไม่เคยเข็มแข็ง แต่เป็นพื้นที่เปราะบาง กระทบเพียงนิดเดียวก็พร้อมแตกสลาย และเมื่อใดกรุงเทพฯพัง เมื่อนั้นผู้คนจะแตกกระจาย มุ่งหน้าหาทางรอดชีวิต

เมื่อนั้นโรงพยาบาลทั่วทิศ จะพบกับความวิบัติแตกต่างกันไป แต่ก็เหมือนหมอหลายๆคน ที่เป็นแค่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีค่าอะไร ไม่ว่าจะส่งเสียงทางช่องทางไหน ถ้าไม่ใช่ว่าไร้คนสนใจ ก็จะโดนปิดปาก และตักเตือนในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันอยู่เสมอ เรารับราชการ เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรนี้ดี หน้าตาสำคัญกว่าอะไร เน้นเก็บใต้พรม มีอะไรห้ามพูดมาก เแต่วิธีการแบบนั้นมันคือ “การหลอกตัวเอง” หลอกคนอื่น หลอกประชาชน เราทำไม่ได้ตลอดไป

ถึงเวลาแล้ว หรือจริงๆควรใช้คำว่ามันสายไปนานแล้ว ที่จะยอมรับว่าประเมินสถานการณ์ผิด เตรียมตัวน้อย บริหารงานไม่เป็น เอาแต่ทำอะไรไร้สาระ ปล่อยให้ประชาชนล้มตาย แต่ก็คงดีกว่าถ้าจะไม่ทำอะไร และมองดูประเทศชาติ(ในหลายๆความหมาย)ล่มสลายไปกับตา

เพจนี้เป็นเพจไร้สาระนะคะ และแอดก็พักเพจเพราะงานยุ่งมากมาหลายเดือนแล้ว แต่วันสองวันมานี้ อยู่ๆก็เห็นหมอดังๆหลายคนออกมาคอลเอาท์อย่างไม่กลัวอันตราย รู้สึกดีใจมากๆค่ะ เราเข้าใจว่าทำไมหมอไม่ค่อยคอลเอาท์ เพราะตัวเรา(ในชีวิตจริง)ก็เคยต้องจ่ายราคาแพงมากกับการลุกขึ้นต่อต้านความอยุติธรรมบางอย่างมาแล้ว (แต่ก็ไม่เลิกนะ จ่ายบ่อย 555) เราสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะหมอออกมาพูดสิ่งที่ตนคิดนะคะ

ทั้งนี้ เราทราบว่าหลายๆคนคงแค้นหมอที่ออกมาเป่านกหวีดหนีคนไข้มาไล่อีปูว์ ตอนนั้นตัวเราก็ไม่เห็นด้วยกับพวกอาจารย์ค่ะ แต่เราไม่กล้าพอจะต่อต้าน และกลายเป็นแผลใจมาตลอด เราขอโทษที่เราไม่กล้าพอนะคะ (เพราะงั้นเลยบอกตัวเองทุกครั้งว่าต้องกล้า ลุกสิ ลุกขึ้นไปพูด พูดเสร็จก็โดนคิลตลอด แต่สบายใจ) ดังนั้นถ้าอยากระบายใต้โพสต์นี้ได้เลยค่ะ เราจะรับคำด่าไว้เอง แต่เราไม่อยากให้ตามด่าหมอที่เปิดหน้าสู้ หรือถ้าไม่ไหวอยากเหน็บ เหน็บไปเชียร์ไปน่าจะดี เพราะตอนนี้เรากำลังหวังให้เค้าออกมาเปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆใช่มั้ยคะ

หมายเหตุ : ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา