ศิริราชแจงปม แพทย์-นศ.แพทย์ฉีดวัคซีนโควิดแล้วชาที่ใบหน้า แขน และ ขา

23 เมษายน 2564
1

รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ชี้แจงปม แพทย์-นศ.แพทย์ฉีดวัคซีนโควิดแล้วชาที่ใบหน้า แขน และ ขา โดยเริ่มมีอาการตอนสายถึงค่ำของวันที่ 22 เม.ย.64

วันที่ 23 เมษายน 2564 รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ชี้แจงกรณีพบแพทย์-นักศึกษาแพทย์ มีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หน้าชา มือเท้าชา ระบุ

 

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นกับนักศึกษาแพทย์ 2 ราย และอาจารย์ 1 ราย เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 20 – 30 ปี โดยมีอาการหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 ในตอนเช้าวันที่ 22 เม.ย.64 แล้วเริ่มมีอาการตอนสายถึงค่ำ เมื่อได้รับการตรวจ ที่ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช โดยได้รับการตรวจร่างกาย และการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่นๆ รวมทั้งตรวจเอกซเรย์สมองด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ไม่พบความผิดปกติใดๆ หลังจากนั้นรับไว้ในโรงพยาบาลศิริราช เพื่อสังเกตอาการ จนอาการดีขึ้น จึงให้กลับบ้านได้ในวันที่ 23 เม.ย.

จากกรณีดังกล่าวข้างต้น ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก และอาจารย์ สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า น่าจะเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในประชากรจำนวนมาก (mass vaccination) เช่นเดียวกับรายงานที่เกิดขึ้นที่จ.ระยอง โดยอาการเหล่านี้ได้มีรายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าอาจเกิดขึ้นได้ในการฉีดวัคซีนชนิดอื่น โดยเรียกภาวะนี้ว่า Immunization Stress – Related Response (ISRR) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อการได้รับวัคซีน โดยมักจะเกิดในผู้ที่มีอายุน้อย ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงได้ 2 อย่าง คือ

1.ผลข้างเคียงจากวัคซีน ที่จะทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย

2.ปฏิกิริยาของผู้รับวัคซีนที่ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท หรือระบบหัวใจ โดยจะมีอาการคล้ายจะเป็นลม หรือหน้ามืด

ดังนั้นการเตรียมตัวก่อนการได้รับวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ประกอบด้วย การพักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และเตรียมสภาพจิตใจให้ผ่อนคลาย สำหรับผู้ที่มีอาการมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วขณะได้รับการฉีดวัคซีน และมักจะหายได้เองภายในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง และหากได้รับการสืบสวนโรค หรือตรวจด้วยเครื่องมือต่างๆ ก็จะไม่พบความผิดปกติใด ๆ

ดังนั้นการฉีดวัคซีน โควิด-19 จึงมีความปลอดภัยมากกว่าอัตราการเกิดผลข้างเคียง และหากมีผลข้างเคียงก็มักจะหายได้เอง โดยไม่หลงเหลือความผิดปกติใดๆ จึงขอให้บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีน หากมีความกังวล หรือข้อสงสัยขอให้ปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับวัคซีน

 

ศิริราชแจงปม แพทย์-นศ.แพทย์ฉีดวัคซีนโควิดแล้วชาที่ใบหน้า แขน และ ขา