อ.เจษฎ์ ไขปมดราม่า เทน้ำอัดลมใส่หมูดิบ เพื่อเอาพยาธิออกมา

10 มีนาคม 2564
169

อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ออกมาโพสต์ข้อความ หลังจากมีชาวต่างชาติรายหนึ่ง ถ่ายคลิปเทน้ำอัดลมใส่ หมูดิบ เพื่อนำพยาธิออกมาจากเนื้อหมู

จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โพสต์ภาพเหตุการณ์ที่มีสาวชาวต่างชาติ เทน้ำอัดลม ใส่หมูดิบ เพื่อนำพยาธิออกมา ทำเอาชาวเน็ตตั้งข้อสงสัยว่าวิธีดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่

เพจเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความระบุว่า... "คลิป เทโค้กใส่เนื้อหมูดิบ-เอาพยาธิออกมา น่าจะเป็นคลิปหลอกครับ" ช่วงนี้มีการแชร์คลิปวิดีโอหนึ่ง (ดูตัวอย่าง https://youtu.be/xQg0VRawBHs) เหมือนเป็นการทดลองของสาวฝรั่งคนหนึ่ง เอาเนื้อหมูที่เธออ้างว่าซื้อมาจากตามห้าง แล้วมาราดน้ำโคล่ายี่ห้อหนึ่งลงไป รอสักครู่ พบว่ามีตัวสีขาวๆ มุดขึ้นมาจากเนื้อหมู พอเขี่ยขึ้นมา ก็เหมือนเป็นหนอนพยาธิตัวยาวเลย !! 

คลิปนี้่ทำเอาหลายคนตกอกตกใจ ไม่กล้ากินเนื้อหมูกัน เพราะถึงเอาไปทำให้สุกได้ ให้พยาธิตายได้ ก็ขยะแขยง ถึงแม้ว่า "เนื้อหมูนั้นไม่ควรจะกินดิบๆ เพราะอาจจะมีเชื้อโรค หรือแม้แต่ตัวอ่อนพยาธิติดมาได้" แต่ๆๆ คลิปนี้มันมีจุดจับผิดได้ว่า เป็นคลิปหลอกที่ทำให้หวาดกลัวเกินจริงนะครับ 

1.) แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นคลิปที่ถ่ายทำแบบต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า long shot แต่ก็มีจังหวะที่ดูเหมือนมีการตัดต่อเกิดขึ้น 
- โดยเฉพาะตรงนาทีที่ 2:36 ที่กล้องถ่ายกดลงไปที่จานเนื้อหมู แล้วแพนขึ้นไปที่หน้าของผู้หญิงคนนั้น ก่อนจะแพนกลับมาที่จานอย่างรวดเร็ว (ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้กัน เวลาตัดต่อเพื่อถ่ายทำให้คล้าย long shot) 
- แถม จะสังเกตเห็นว่าตอนแรกเธอใช้มือซ้ายรองจานหมูไว้  แต่พอแพนขึ้นใบหน้า-แพนกลับลงมา กลายเป็นมือขวาที่ใช้รองจาน
- จึงเป็นไปได้ที่จะมีการตัด cut เอาชิ้นหมู่ มาจิ้มยัดหนอนลงไป ก่อนจะถ่ายทำต่อ

2.) ลักษณะคลิปวิดีโที่มีการทดลอง "เทโคล่าลงเนื้อหมูดิบ แล้วมีหนอนพยาธิคืบคลานออกมา" นั้น มีอยู่อีกหลายคลิปในยูทูป และเผยแพร่กันมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นฟอร์เวิร์ดอีเมล์ด้วยซ้ำ (ตัวอย่างเช่น https://youtu.be/ydz9XCam-ME) ซึ่งทำให้หลายคนกังวลที่จะกินเนื้อหมู เพราะจะป่วยจากกินเอาพยาธิพวกนี้เข้าไปในร่างกาย 
- แต่ไม่พบว่าคลิปวิดีโอที่โพสต์กันไว้เหล่านี้ จะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าเป็นจริงตามนั้น และมักจะเป็นการตั้งใจสร้างคลิปหลอก-สร้างความหวาดกลัว หรือเป็นการเข้าใจผิดจากการที่ใช้เนื้อหมูที่คุณภาพต่ำ
- ในขณะเดียวกัน มีคลิปวิดีโออีกมากมาย ที่เอาเนื้อหมูมาทำเช่นนั้น และไม่พบว่ามีอะไรเกิดขึ้น
- การแช่เนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ในน้ำโคล่า จะช่วยให้เนื้อนิ่มลงได้จากการที่โคล่ามีค่าพีเอชในระดับที่เป็นกรด เหมือนกับที่ไปแช่ในน้ำส้มสายชู ... แต่ถ้าแช่นานเป็นชั่วโมง ก็สามารถจะทำให้ไขมันและโปรตีนในเนื้อเกิดปฏิกิริยาทางเคมี จนเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม และอาจเข้าใจผิดว่าเป็นพยาธิได้

3.) คลิปพวกนี้ มักจะอ้างถึงโรค ทริคิโนสิส (Trichinosis) หรือ ทริคิเนลโลสิส  (Trichiniasis) ซึ่งเป็นโรคพยาธิ ที่เกิดจากการกินเนื้อหมูดิบ หรือปรุงไม่สุกดี หรือหมูที่เลี้ยงมาไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิตัวกลมที่ชื่อว่า ทริคิเนลลา สไปรัลลิส (Trichinella spiralis) 
- พยาธิชนิดนี้ แม้ว่ามักจะเรียกว่าเป็นพยาธิในเนื้อหมู แต่ก็พบในเนื้อของสัตว์อื่่นๆ อีกมากมาย ที่เป็นพวกสัตว์กินเนื้อ หรือสัตว์ที่กินทั้งเนื้อและพืช เช่น พวกสัตว์ฟันแทะ (หนู กระรอก กระต่าย ฯลฯ) ม้า หมี หมูป่า หมาจิ้งจอก หมาบ้าน หมาป่า แมวน้ำ วอลลัส ฯลฯ 
- จากการที่โรคทริคิโนซิสและโรคอื่นๆ นั้นอาจติดต่อได้ผ่านทางการกินเนื้อหมูเลี้ยง จึงมีคำเตือนกันมานานแล้วว่าจะต้องทำให้เนื้อหมูสุกเสียก่อนที่จะนำมารับประทาน เพื่อให้มั่นใจว่าพยาธิและเชื้อโรคต่างๆ ได้ต่ายไปหมดแล้ว 
- แต่ทางศูนย์ ซีดีซี (Centers for Disease Control หรือ CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้ในข้อมูเกี่ยวกับโรคทริคิโนซิสว่า ปัจจุบันนั้น มีคนที่ติดโรคนี้น้อยลงมาก จนอยู่ในระดับที่หายาก โดยระหว่างปี ค.ศ. 2008-2010 (พ.ศ. 2551-2553) นั้นพบเฉลี่ยเพียงแค่ 20 รายต่อไป 
- สาเหตุที่อุบัติการณ์ของโรคนี้มีลดลงมาก มาตั้งแต่ช่วงกลางคริสตวรรษที่ 20 นั้น เนื่องจากมีกฏเกณฑ์ที่ห้ามเอาเศษเนื้อดิบมาเลี้ยงหมู การนิยมแช่แข็งเนื้อหมู (ซึ่งทำให้ตัวอ่อนพยาธิตาย) โปรแกรมการตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงหมูและการจำหน่ายเนื้อหมู และการตระหนักของสาธารณชนถึงอันตรายจากการกินเนื้อหมูดิบ ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคนี้จากการกินเนื้อหมูดิบนั้นลดลง และส่วนใหญ่มันจะเป็นการเจ็บป่วยอันเนื่องจากกินเนื้อสัตว์ป่า (ที่ได้รับอนุญาตให้ล่าเป็นเกมกีฬา) ซึ่งไม่ได้ปรุงสุก

4.) การนำเนื้อหมูมารับประทานนั้น ควรทำให้สุกถึงระดับอุณหภูมิปลอดภัย (safe temperature) จึงจะฆ่าพยาธิได้  ซึ่งอุณหภูมิปลอดภัยนี้จะแตกต่างกันสำหรับเนื้อสัตว์แต่ละอย่าง เราอาจจะใช้เทอร์โมมิเตอร์พิเศษสำหรับการจิ้มลงไปในเนื้อเพื่อวัดอุณหภูมิภายในของก้อนเนื้อด้วย
- ทางศูนย์ CDC แนะนำให้ใช้ระดับอุณหภูมิที่ 170°F (ประมาณ 77 องศาเซลเซียส) ในขณะที่แหล่งข้อมูลอื่นๆ บอกว่าระดับอุณหภูมิช่วง 140-150°F (ประมาณ 60-65 องศาเซลเซียส) นั้นเพียงพอที่จะฆ่าพยาธิทริคิเนลลา สไปรัลลิสได้ หรือถ้าเนื้อหมูมีขนาดไม่หนากว่า 6 นิ้ว (ประมาณ 15 เซนติเมตร) ก็เอาไปแช่แข็งที่อุณหภูมิตั้งแต่ 5°F ลงไป (ประมาณ -15 องศาเซลเซียส) เป็นเวลา 20 วัน 
 สรุป : การเอาเนื้อหมูดิบไปแช่นน้ำโคล่าเพื่อเอาพยาธิออกมานั้น เป็นฟอร์เวิร์ดเมล์มั่วที่หลอกกันมานานแล้ว และเนื้อหมูก็สามารถนำมาบริโภคได้ เพราะเป็นแหล่งของสารอาหารกลุ่มโปรตีนและวิตามินบีหนึ่ง (แต่ก็มีไขมันอิ่มตัวสูงด้วยนะ) โดยต้องเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย และต้องทำให้มั่นใจว่าได้ปรุงสุกเรียบร้อยแล้วกินที่จะกินครับ
ข้อมูลจาก http://www.hoaxorfact.com/.../pouring-coke-on-raw-pork... และ https://www.snopes.com/fact-check/coke-adds-life/...

--------------------

(เพิ่ม) ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคทริคิโนซิสในประเทศไทย (จาก http://niah.dld.go.th/th/AnimalDisease/pig_trichi.htm)
โรคทริคิโนซิสเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์ถึงคน พยาธิตัวกลมที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือ ทริคิเนลล่า สไปราลิส (Trichinella spiralis) พบได้มากสุด ในสัตว์กินเนื้อที่เป็นสัตว์ป่า เช่น หมูป่า รองลงมาเป็นสัตว์ที่ใช้ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก 

โรคนี้จะแพร่มาสู่คนได้โดยการกินเนื้อสัตว์ ที่มีตัวอ่อนของพยาธิในถุงหุ้มที่แฝงอยู่ในกล้ามเนื้อดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ เช่น ลาบ แหนม หลู้ ก้อย น้ำตก จากนั้นพยาธิจะเข้าไปในร่างกาย ถูกย่อยในกระเพาะ ถุงหุ้มตัวพยาธิจะถูกย่อยออก ทำให้พยาธิออกมาเจริญเติบโต เป็นตัวเต็มวัยภายใน 2-3 วัน ซึ่งจะผสมพันธุ์กันในลำไส้เล็ก ออกลูกเป็นตัวอ่อนจำนวนมาก 

พยาธิตัวอ่อนจะไชเข้าไปในระบบน้ำเหลือง และเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิต ในที่สุดจะแพร่ไปทั่วร่างกาย จากนั้นจะเข้าไปฝังตัวอยู่ตามกล้ามเนื้อต่างๆ กล้ามเนื้อที่พบมากคือกระบังลม กล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อที่อยู่ระหว่างกระดูกซี่โครง กล้ามเนื้อแก้ม ลิ้น และน่องนอกจากนี้ยังพบในอวัยวะอื่นของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ ปอด สมอง ตับ ตับอ่อน และไต พยาธิตัวอ่อนที่ขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อจะสร้างถุงหุ้มหรือซิสต์ (cyst) ล้อมรอบและจะมีการจับตัวของหินปูน ใน 1 เดือนหลังการติดพยาธิ
 

 

 

อ.เจษฎ์ ไขปมดราม่า เทน้ำอัดลมใส่หมูดิบ เพื่อเอาพยาธิออกมา

 

ในประเทศไทย มีรายงานการระบาดของโรคทริคิโนซิสในคนเป็นครั้งแรก ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี พ.ศ. 2505 จากนั้นมีรายงานการเกิดโรคเป็นครั้งคราวแทบทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2524 รวมเกิดโรค 44 ครั้ง มีจำนวนผู้ป่วย 2,046 ราย เสียชีวิต 70 ราย และจากปี พ.ศ.2525 ถึง ปี พ.ศ. 2545 มีการเกิดโรค 88 ครั้ง มีจำนวนผู้ป่วย 3,623 ราย เสียชีวิต 17 ราย  พบการระบาดทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะทางภาคเหนือ มักพบในคนพื้นเมืองทางภาคเหนือซื้อหมูชาวเขาที่เลี้ยงแบบปล่อย นำมาฆ่า แล้วขายหรือแจกจ่ายกันไปทำอาหาร ทำให้พบผู้ป่วยครั้งละมากๆ
 เนื่องจากโรคทริคิโนซีสเป็นโรคสัตว์ที่สามารถติดต่อถึงคนได้ โดยการบริโภคเนื้อสุกรหรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่มีพยาธิตัวอ่อนเข้าไป ด้วยวิธีการปรุงอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ แหนม เป็นต้น ดังนั้นควรแนะนำให้ผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงปรุงอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ให้สุกก่อนบริโภค ด้วยการต้มให้เดือดนาน 30 นาที ต่อเนื้อหนัก 1 กิโลกรัม จึงจะฆ่าพยาธิตัวอ่อนที่อยู่ในเนื้อได้