นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกฤษฏีกาได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดที่ว่าด้วยอัตราดอกเบี้ย มี 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 7 ดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อน และมาตรา 224 ดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 7.5% ต่อปี และมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2468 จนถึงปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากความล้าสมัยของอัตราดอกเบี้ยนี้ จึงมีการเสนอแก้ไขอัตราดอกเบี้ยใหม่ดังนี้
1. ดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน มาตรา 7 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เดิมคิด 7.5% ต่อปี อัตราคงที่ตลอด ปรับใหม่เป็น 3% ต่อปี และให้กระทรวงการคลังประเมินทุก 3 ปี หากจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอาจต้องออกพระราชกฤษฎีกาต่อไป
2. ดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ผิดนัด มาตรา 224 ตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ปัจจุบันคิดที่ 7.5% ต่อปี ปรับใหม่เหลือ 5% ต่อปี มาจากดอกเบี้ย 3% จากมาตรา 7 และเพิ่มอีก 2%
3. ในส่วนของการคิดดอกเบี้ยผิดนัดเวลาผ่อนส่งเป็นงวด เดิมคิดจากเงินต้นที่ค้างทั้งหมด ของใหม่คิดจากเฉพาะเงินต้นที่ผิดนัดเท่านั้น ซึ่งจะตกลงแตกต่างจากนี้ไม่ได้
ทั้งนี้กระบวนการที่ผ่าน คณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้โดยขั้นตอนต่อจากนี้ เมื่อสภาฯเปิดประชุมสมัยสามัญแล้ว จะมีการประสานงานเพื่อให้สภาฯรับร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ พิจารณา และคาดว่าน่าจะมีการประกาศและบังคับใช้ภายในปี 2564
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับ มีดังนี้
1. อัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ
2. ป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ประวิงเวลาฟ้องคดีเพื่อเรียกดอกเบี้ยตามกฎหมายที่สูงเกินควร
3. ป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องแบกภาระดอกเบี้ยในหนี้ที่ยังไม่เกิดการผิดนัด
ลูกหนี้มีภาระเกินสมควร อัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 7.5%