รศ.ดร.วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยประกอบด้วย นางสาวกฤติยา เชียงกุล นิสิตปริญญาเอก, ดร.ปรเมศร์ ตรีวลัยรัตน์, นายกีรติ กันยา หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัย และสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์นครราชสีมา และ รศ.ดร.วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค้นพบปลิงชนิดใหม่ของโลก ปลิงตรีศูล Placobdelloides tridens นับเป็นปลิงชนิดใหม่ของโลกชนิดที่ 3 ที่ค้นพบโดยทีมนักวิจัยดังกล่าว
Placobdelloides tridens มีชื่อสามัญว่า “Trisun leech” ชื่อไทย “ปลิงตรีศูล” เป็นปลิงชนิดใหม่ที่พบเกาะอยู่กับเต่าน้ำจืดหายาก ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง เต่าน้ำบอร์เนียว (Orlitia borneensis) ปลิงชนิดนี้พบครั้งแรกในเต่าน้ำบอร์เนียวที่อาศัยในพื้นที่เลี้ยงของสวนสัตว์นครราชสีมา ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยปลิงจะดูดเลือดและกินเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissues) ด้วยงวงที่เหมือนเข็ม (proboscis) จากเต่าเป็นอาหาร
ปลิงตรีศูล มีขนาดเล็กยาวประมาณ 21 มิลลิเมตร ตัวใส ลำตัวเป็นทรงลูกแพร์ มีเม็ดสีน้ำตาล เหลือง และเขียวเข้มกระจายทางด้านหลัง ไม่มีเส้นแถบกลางหลังเหมือนปลิงชนิดอื่น มีตา 1 คู่ อยู่บริเวณปล้องที่ 3 ลักษณะภายในที่เด่นชัดของปลิงตรีศูลคือ มีต่อมน้ำลายรูปเมล็ดถั่วบริเวณปล้องที่ 14-16 ถุงเก็บอสุจิ (spermatheca) รูปรักบี้บริเวณปล้องที่ 20-25 และแขนงกระเพาะ (crop ceca) ทั้งเจ็ดแขนงบริเวณปล้องที่ 23-66 ที่มีปลายแตกแขนงเป็นสามแฉกเหมือนตรีศูล จึงเป็นที่มาของชื่อปลิงชนิดนี้ การแยกชนิดของปลิงชนิดนี้ใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยา โดยการเปรียบเทียบยีน COI และ ND1 โดย phylogenetic tree ของยีน COI-ND1 ระบุว่า ปลิงตรีศูลมีลักษณะแตกต่างจากปลิง Placobdelloides ชนิดอื่นๆ ในประเทศไทย ทั้งปลิงโล่สยาม (P. siamensis) และปลิงอาจารย์ประไพสิริ (P. sirikanchanae)
ปลิงเป็นปรสิตที่สามารถพบได้เสมอในเต่าแทบทุกชนิด อย่างไรก็ตามจากการทดลองในห้องปฏิบัติการโดยใช้ปลิงโล่สยาม (P. siamensis) เป็นตัวแทนในการศึกษา พบว่าปลิง 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 272 ฟอง ตัวอ่อนสามารถเข้าสู่ระยะเต็มวัยในเวลา 3 สัปดาห์ จึงสามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว โดยวัฏจักรชีวิตใช้ระยะเวลาเพียง 33-41 วัน ดังนั้นการปล่อยเต่าในแหล่งน้ำควรระวังผลกระทบที่เกิดจากการนำปลิงไปแพร่ให้กับเต่าที่มีอยู่เดิมในแหล่งน้ำด้วย หากปลิงมีประมาณที่สูงมากสามารถส่งผลต่อสุขภาพของเต่า และทำให้เต่าตายได้ในที่สุด
รศ.ดร.วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2562 ทีมนักวิจัย ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค้นพบปลิงอาจารย์ประไพสิริ Placobdelloides sirikanchanae พบเกาะอยู่กับเต่าน้ำจืด โดยเฉพาะกลุ่มเต่าใบไม้ เช่น เต่าใบไม้ท้องดำมลายู (Cyclemys enigmatica) และเต่าใบไม้เอเชีย (C. dentata) ในร่องยางตามสวนยางในตำบลสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
และในปี พ.ศ. 2563 พบปลิงกินหอยบางเขน Batracobdelloides bangkhenensis เป็นปลิงกินหอยชนิดใหม่ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย พบเกาะอยู่กับหอยฝาเดียวน้ำจืดหลายชนิดค้นพบครั้งแรกในบ่อน้ำ สวน 100 ปี หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ล่าสุด ปี พ.ศ.2564 พบปลิงตรีศูล Placobdelloides tridens เป็นปลิงชนิดใหม่ของโลก โดยพบเกาะอยู่กับเต่าน้ำจืดหายาก ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์คือ เต่าน้ำบอร์เนียว (Orlitia borneensis) ที่อาศัยในพื้นที่เลี้ยงของสวนสัตว์นครราชสีมา นับเป็นความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้
ภาพที่ 1 ปลิงตรีศูล (Placobdelloides tridens)
ภาพที่ 2 เต่าน้ำบอร์เนียว (Orlitia borneensis)
ภาพที่ 3 ตัวอ่อนปลิงจำนวนมากเกาะอยู่กับด้านท้องของตัวแม่ เป็นพฤติกรรมการดูแลลูก (parental care) ก่อนตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป
เอกสารอ้างอิง
Chiangkul, K., P. Trivalairat and W. Purivirojkul. 2020. The life cycle of the Siamese shield leech, Placobdelloides siamensis Oka, 1917. PLoS ONE 15(12): e0244760. https://doi.org/ 10.1371/journal.pone.0244760
Chiangkul K., P. Trivalairat, K. Kunya and W. Purivirojkul. 2021. Placobdelloides tridens sp. n., a new species of glossiphoniid leech (Hirudinea: Rhynchobdellida) found feeding on captive Orlitia borneensis in Thailand, and an update to the host distribution of P. siamensis. Systematic Parasitology.