วิจัยพบ"จังหวะก้าวเดิน"มีส่วนเกี่ยวในการสิ้นใจของผู้ป่วยมะเร็ง

06 มีนาคม 2564
1

นักวิจัยของสหรัฐฯ พบว่า "จังหวะก้าวเดิน" มีส่วนเกี่ยวกับอัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยมะเร็ง

คณะนักวิจัยจากสถาบันยารักษาโรคแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรีของสหรัฐฯ และสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐฯ (NCI) ค้นพบว่าจังหวะก้าวเดินที่ช้านั้นเกี่ยวโยงกับการเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

คณะนักวิจัยศึกษาพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคมะเร็งอายุระหว่าง 50-71 ปี ที่สมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยสุขภาพและการกินอาหารของสถาบันสุขภาพแห่งชาติและสมาคมผู้เกษียณอายุอเมริกัน (NIH-AARP) จำนวนกว่า 233,000 คน โดยผู้ป่วยได้ตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวม จังหวะการเดิน ตลอดจนปัญหาด้านการเดินที่พวกเขามี เช่น การเดินได้ช้ามาก หรือไม่สามารถเดินได้เลย หลังจากการประเมินดังกล่าว นักวิจัยได้ติดตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอีกเป็นเวลาหลายปี

เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมสุขภาพปกติที่มีการรับสมัครระหว่างการวิจัย ทีมวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยังมีชีวิตอยู่ร้อยละ 42 มีแนวโน้มเดินด้วยจังหวะก้าวช้าที่สุด และผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกร้อยละ 24 มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถเดินได้เลย ในบรรดาผู้ป่วยโรคมะเร็งเหล่านี้ ผู้ป่วยที่เดินด้วยจังหวะก้าวช้าที่สุดมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากสาเหตุใดก็ตาม มากกว่าผู้ป่วยที่เดินด้วยจังหวะก้าวเร็วที่สุดถึง 2 เท่า

ความเชื่อมโยงระหว่างการเดินด้วยจังหวะก้าวช้าที่สุดกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ พบในผู้ป่วยโรคมะเร็ง 9 ประเภท ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน มะเร็งช่องปาก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ตรง มะเร็งในระบบทางเดินหายใจ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ส่วนความเกี่ยวพันกันระหว่างการเดินไม่ได้กับการเสียชีวิตนั้นสูงยิ่งกว่า ซึ่งนอกจากจะพบในผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้ง 9 ประเภทข้างต้นแล้ว ยังพบในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งต่อมไร้ท่อ มะเร็งรังไข่ และมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย

ขณะเดียวกันการเดินด้วยจังหวะก้าวที่ช้านั้นยังเกี่ยวพันกับการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ ในหมู่ผู้ที่ไม่เคยถูกวินิจฉัยว่าป่วยโรคมะเร็งด้วย แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า 2 เท่า

ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เดินด้วยจังหวะก้าวช้าที่สุดมีอัตราเสี่ยงเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ มากขึ้นกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยป่วยโรคมะเร็งที่เดินด้วยจังหวะก้าวเร็วที่สุด ส่วนผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้นั้นมีความเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยป่วยโรคมะเร็งหรือพิการ

คณะนักวิจัยระบุว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งจะพบว่าตนมีปัญหาด้านการเดินหลังจากถูกวินิจฉัยว่าป่วยโรคมะเร็งและเข้ารับการรักษาได้นาน 5 ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งบ่งชี้ว่าผลกระทบที่ร้ายแรงจากการถูกวินิจฉัยว่าป่วยโรคมะเร็งและการรักษาโรคนี้นั้นเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายประเภทและในระยะยาว ซึ่งหมายความว่าเรามีโอกาสที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้พัฒนาการเคลื่อนไหวและจังหวะก้าวเดินได้

คณะนักวิจัยเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์เหล่านี้และวิธีบำบัดรักษาหลายประเภท อาทิ กิจกรรมทางกาย อาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งพัฒนาความสามารถในการเดินและเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคมะเร็งหลังได้รับการวินิจฉัยและการรักษา

อนึ่ง งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารวิทยาการระบาดของมะเร็ง ตัวชี้วัดทางชีวภาพ และการป้องกัน (Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention) ของสมาคมวิจัยมะเร็งอเมริกัน (American Association for Cancer Research)

ขอบคุณ ซินหัวไทย