เรียกได้ว่าโรคระบาดซ้ำเติมทุกคน ทุกภาคส่วน หลายบริษัท หลายหน่วยงานก็ดูเหมือนจะได้รับผลกะทบ จนทำให้เกิดการว่างงานกันเป็นจำนวนมาก หลายคนก็กำลังตกอยู่ในสถานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะทางบริษัทต้องการให้เขียนใบลาออก ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้สมัครใจจะออก
แต่ถ้าเราไม่เขียนใบลาออก ทางบริษัทก็อ้างว่าเราจะไม่ได้ค่าตอบแทนชดเชย จำใจต้องเขียนใบลาออกเอง ซึ่งหลายคนก็ตกเป็นเหยื่อของบริษัทที่หลอกล่อเราแบบนี้
หากคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราขอแนะนำคุณว่าอย่าเขียนใบลาออกเด็ดขาด! เพราะไม่เช่นนั้น คุณเองนั่นแหละที่จะเป็นคนที่เสียผลประโยชน์ซะเอง หลายคนก็ยังไม่รู้ว่า หากเราถูกเลิกจ้าง เราจะได้รับสิทธิและประโยชน์อะไรบ้าง และหากเรายอมเขียนใบลาออก จะทำให้เราเสียสิทธิเหล่านี้ไป
1. สิทธิตามมาตรา 17 รับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
หากคุณเขียนใบลาออก คุณจะเสียสิทธิในการรับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 1 รอบการจ่ายเงินเดือน โดยถ้าคุณได้รับเงินเกือนเป็นราย 15 วัน ก็จะได้รับเงินค่าจ้าง 15 วัน หากเงินเดือนออกเป็นรายเดือน 30 วัน ก็จะได้เงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน
2. สิทธิตามมาตรา 118 รับเงินค่าชดเชยตามอายุงาน
หากคุณเขียนใบลาออกคุณจะเสียสิทธิในการรับเงินค่าชดเชยตามอายุงาน จาก 30 วัน จนถึง 300 วัน แล้วแต่ใครจะมีอายุงานมากน้อย สำหรับคนที่ใช้สัญญาจ้าง ตามเงื่อนไขข้อกฎหมายแล้ว การต่อสัญญาไ ม่ว่าจะเป็นสัญญารายปี ราย 6 เดือน ราย 3 เดือน หรือสัญญารายเดือนในทางกฎหมายให้นับเป็นอายุงานต่อเนื่อง เมื่อนับแล้วครบตามเงื่อนไขข้อกฎหมายก็มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยเช่นกัน
3. เงินทดแทนการว่างงาน
หากคุณถูกเลิกจ้าง คุณจะได้ 50% ของ 180 วัน หากเขียนใบลาออกจะได้เพียง 30% ของ 90 วัน โดยคิดจากฐานเงินสมทบสูงสุดไ ม่เกิน 15,000 บาท และต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานภายใน 30 วัน นับจากวันที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย คือลูกจ้างลาออกเอง หรือทำผิดเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1. ทุจริตทำผิดอาญาโดยเจตนา
2. จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย
3. ประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างเสียหายร้ายแรง
4. ฝ่าฝืนระเบียบ-ข้อบังคับ อันชอบด้วยกฏหมาย
5. หยุดงาน 3 วันติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร
6. รับโทษจำคุกตามคำสั่งศาล
ดังนั้น ก่อนที่เราจะเขียนใบลาออก หรือเซ็นรับรองเอกสารใดๆ ควรอ่านทำความเข้าใจเนื้อหาในนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน และศึกษาหาข้อมูลของสิทธิประโยชน์ที่เราพึงมี และที่ควรได้รับทั้งหมดให้เรียบร้อย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเราเอง ไม่ให้ใครมาเอาเปรียบเราได้
เราจะเห็นตัวอย่างจากหลายกรณีที่พบเจอบ่อยๆ ที่นายจ้างไม่อยากจะจ่ายเงินชดเชย จึงบังคับให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกเอง ทำให้เสียสิทธิที่จะได้รับไปอย่างน่าเสียดาย
ขอคุณที่มาข้อมูล : เพจแรงงานเพื่อสังคม