วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมชุม การทำกิจกรรมมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 3 ) มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ตามที่ได้มีการบังคับใช้บรรดามาตรการต่างๆ เพื่อระงับยับยั้งและป้องกันการระบาดแบบกลุ่มก้อนของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ด้วยการปฏิบัติงานที่เข้มแข็งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน อาสาสมัคร ตลอดจนความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานการณ์ปัจจุบันสามารถจำกัดและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้อยู่ในขอบเขตได้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
รัฐบาลจึงได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2564 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 2/2564 เพื่อให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการป้องกันโรคตามมาตรการด้านสาธารณสุข
ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนดและคำสั่งดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 เรื่องแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3 (6) และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง จึงให้ปฏิบัติดังนี้
1.ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2564
2.ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร
3.ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ และเป็นไปตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด กำหนดไว้ตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2564 ตามลำดับ
4.การชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ในพื้นที่ซึ่งมีประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ผู้จัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง ที่กำหนดไว้ตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2564 เว้นแต่การทำกิจกรรมของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย หรือการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถาน
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกาศ ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง