วันสารทไทย วันสารทเดือนสิบ 2565 ทำอะไรบ้าง
วันสารทไทย วันสารทเดือนสิบ เหมือนกันหรือไม่ มีความเป็นมาอย่างไร พร้อมสาระ ความสำคัญ ที่ควรรู้เกี่ยวกับ ประเพณีวันสารทเดือนสิบ ภาคใต้
วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่แน่ชัดก็คือเป็น ประเพณีทำบุญเดือน10 ในภาคใต้ โดยเฉพาะในท้องถิ่นนครศรีธรรมราช มีประเพณีนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2466 จึงทำให้ประเพณีทำบุญเดือนสิบที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นที่รู้จักและเลื่องลือกันมากกว่าในจังหวัดอื่น
ประวัติ ประเพณีวันสารทเดือนสิบ
ทำบุญเดือน 10 เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวภาคใต้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องมาจากความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า ในปลายเดือน 10 พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องซึ่งล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีบาปตกนรกอยู่ซึ่งเรียกว่า “เปรต” จะได้รับการปล่อยตัวจากพยายมให้ขึ้นมาพบลูกหลานและญาติพี่น้องของตนในเมืองมนุษย์ใน “วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และให้กลับไปอยู่เมืองนรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10”
ชาวบ้านจึงจัดให้มีการทำบุญเป็นประเพณีขึ้นใน
- วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง (ในปี 2565 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2565)
- แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ครั้งสอง (ในปี 2565 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565)
บางท้องที่ทำในวันแรม 14 ค่ำ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องตลอดจนบุคคลอื่นๆ ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นสำคัญ เพียงแต่ว่าการทำบุญใน 2 วาระนี้ อาจมีวิถีปฏิบัติต่างกัน กล่าวคือโดยทั่วไปแล้วจะกระทำกันอย่างจริงจังในวาระหลัง เพราะถือว่ามีความสำคัญกว่าในวาระแรก
ชาวพัทลุงและชาวภาคใต้ทั่วไปเรียกว่า “วันชิงเปรต” หรือ “ประเพณีชิงเปรต” แต่ทางภาคกลางเรียกว่า “วันสาร์ท” หรือ “ประเพณีวันสารทไทย” เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปตชนหรือบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ที่ล่วงลับไปแล้วตามคติความเชื่อของชาวบ้านทั่วไป โดยการทำบุญบริจาคทานถวายพระภิกษุสงฆ์เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายนั่นเองคะ
บุญสารทเดือนสิบ 2565 ตรงกับวันอะไร
- วันสารทไทย พ.ศ. 2565 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2565 / วันอาทิตย์ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ปีขาล
วันสารทเดือน 10 ตรงกับวันอะไร
- วันสารทไทย 2565 หรือ ประเพณีสารทเดือนสิบ ในปี 2565 นี้ ตรงกับ วันอาทิตย์ ที่ 25 กันยายน 2565
พิธีกรรมของวันสารทเดือน 10 มีอะไรบ้าง
- ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
- ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความ สัมพันธ์กับอินเดีย เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลาง ดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบ ซึ่งที่รู้จักกันดีคือ ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช
- ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต คำว่า จัดหมรับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อๆ การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย
- ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรต นั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดหมรับ ยกหมรับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ ขนมพอง โดยหมายจะให้เป็นแพฟ่อง ล่อยลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ ,ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม, ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ, ขนมดีซำ ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย และขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์
- สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควร เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรต มีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหาร และขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต แล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล การทำบุญด้วย วิธีตั้งเปรต และชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลอง ห.ม.รับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไป แล้วด้วย ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน
- 4. ประเพณีทำบุญตายาย หรือ ประเพณีรับส่งตายาย โดยถือคติว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่มีบางแห่งถือว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่าน กลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย
วันสารทเดือนสิบ ทำอะไรบ้าง
ประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน 10 เป็นสองวาระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองวาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญ มากกว่า