มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 อายุเก็บเกี่ยวสั้น ให้ผลผลิตหัวสดสูง และแป้งมาก
กรมวิชาการเกษตร แนะนำมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 ซึ่งมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 8 เดือน อีกทั้ง ให้ผลผลิตหัวสดสูง และแป้งมาก
มันสำปะหลังพันธุ์ " ระยอง 15 " (OMR45-27-76) ผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง เป็นมันสำปะหลังอายุเก็บเกี่ยวสั้น ได้จากการผสมเปิดของมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ที่ให้ผลผลิตสูงและปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ในปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นไม่เกิน 8 เดือน และให้ผลผลิตแป้งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 และระยอง 72 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ดำเนินการทดลองตั้งแต่ปี 2545-2558 จำนวน 40 แปลงทดลอง ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 17 จังหวัด ได้แก่จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อุบลราชธานี นครราชสีมา
ลักษณะเด่น
- การเก็บเกี่ยวที่อายุสั้น 8 เดือน
- ให้ผลผลิตหัวสดสูง เฉลี่ย 4,632 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 คิดเป็นร้อยละ 10 18 5 และ 4 ตามลำดับ
- มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง เฉลี่ย 29.2 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 และระยอง 72 คิดเป็นร้อยละ 4 1 และ 5 ตามลำดับ
- ให้ผลผลิตแป้งสูงเฉลี่ย 1,355 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 คิดเป็นร้อยละ 13 18 10 และ 2 ตามลำดับ
จากการสำรวจการเข้าทำลายของแมลงศัตรูมันสำปะหลัง ภายใต้สภาพไร่ในช่วงฤดูแล้ง พบว่า มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 มีการเข้าทำลายของไรแดงน้อยกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 และระยอง 72 และทุกพันธุ์มีการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งและแมลงหวี่ขาวเล็กน้อย การประเมินความต้านทานโรคใบไหม้ภายใต้สภาพโรงเรือน พบว่า มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้ เช่นเดียวกับพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 72 ระยอง 9 และเกษตรศาสตร์ 50
การผลิตมันสำปะหลังในสภาพการจัดการระบบการปลูกพืชที่ต้องการใช้พื้นที่ปลูกพืชหมุนเวียน หรือ หากเกษตรกรต้องการมีรายได้ที่เร็วขึ้น การปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 ซึ่งมีผลผลิตแป้งสูง อายุการเก็บเกี่ยวสั้นที่ 8 เดือน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกร
ผลงานวิจัย มันสำปะหลังอายุเก็บเกี่ยวสั้นพันธุ์ระยอง 15 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2562 ระดับดี สาขาปรับปรุงพันธุ์ จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563
ข้อมูลและภาพ : ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง