แนะวิธีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง และการแก้ปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังต่ำ
การเพาะปลูกมันสำปะหลังที่เหมาะสม พร้อมวิธีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง และวิธีการแก้ปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังต่ำ
มันสำปะหลัง สามารถปลูกได้ง่ายในพื้นที่ร้อน และร้อนชื้น จึงได้มีการสนับสนุนแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีสภาพภูมิอากาศดังกล่าวปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถนำไปประกอบอาหารคาวหวาน โดยนำส่วนของรากสะสมอาหารที่มีการสะสมของคาร์โบไฮเดรตไปใช้ประกอบอาหาร แปรรูปเป็นสารปรุงแต่งรสอาหาร อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมกาว เเละ พลังงานเอทานอล ในที่นี่ทางไทยนิวส์ออนไลน์ จะเเนะนำวิธีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง แก้ปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังต่ำ
ปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังต่ำ เนื่องจากขาดจุลธาตุสังกะสี
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช มีอยู่ 16 ธาตุ แต่มีเพียง 7 ธาตุ เท่านั้นที่พืชต้องการใช้ในปริมาณน้อยมาก และเราเรียกธาตุเหล่านี้ว่า จุลธาตุ (Micronutrient) ได้แก่ เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) ทองแดง (Cu) โบรอน (B) โมลิดินัม (Mo) คลอรีน (Cl) แม้ว่าพืชต้องการธาตุเหล่านี้น้อย แต่ก็มีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดสังกะสี ในมันสำปะหลัง ซึ่งในปัจจุบัน เป็นปัญหาของเกษตรกรจำนวนมาก
ความสำคัญของธาตุสังกะสี (Zn)
เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นของเอนไซม์หลายชนิด รวมทั้งออกซิเจนและฮอร์โมนในพืช เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างกรดอินโดลอะเซติก (LAA) เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างคลอโรฟิลล์ และการสร้างเมล็ดพืช ตลอดจนมีบทบาทในการสังเคราะห์โปรตีน ช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในพืช
ลักษณะอาการขาดธาตุสังกะสีในมันสำปะหลัง
พบเห็นโดยทั่วไปในดินด่าง จะมีลักษณะ การยืดต้นเช้า พบจุดหรือแถบสีขาว หรือเหลือง บนใบอ่อน ใบอาจย่นหรือเปลี่ยนรูปร่าง อาจพบจุดแผลเซลล์ตายในใบล่าง และอาจรุนแรงทำให้ต้นตาย ส่งผลถึงความอยู่รอดและผลผลิตมันสำปะหลัง
สาเหตุ
• พื้นที่มีการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
• ปลูกมันสำปะหลังในที่เดิมเป็นเวลานาน ไม่มีการปลูกพืชหมุนเวียน
• ดินมีความเป็นด่างสูง (pH สูง) หรือดินที่มีแคลเซียม (Ca) สูง
• เกษตรกรใส่ปุ๋ยธาตุอาหารหลักอย่างเดียว
ข้อแนะนำ
- ชุบท่อนพันธุ์ด้วยปุ๋ยสังกะสี (ซิงค์ ซัลเฟต) ละลายน้ำในอัตรา 0.4 กก. ต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 15 นาทีก่อนปลูก
- ปุ๋ยสังกะสี (ซิงค์ ซัลเฟต) ละลายน้ำอัตรา 0.8 กก. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบที่อายุ 1,2 และ 3 เดือนหลังปลูก หรือเมื่อต้นมันสำปะหลังแสดงอาการขาดธาตุสังกะสี
การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ด้วยวิธีการเลือกใช้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์
การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง นอกเหนือจากการปรับปรุงบำรุงดิน ร่วมกับการอนุรักษ์ดิน และการใช้พันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดีแล้ว การจัดการดูแลที่ดี โดยเริ่มตั้งแต่ ฤดูการปลูกที่เหมาะสม การเตรียมดินดี การเตรียมท่อนพันธุ์ปลูก ระยะปลูกที่เหมาะสม ตลอดจนการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่เหมาะสม การกำจัดวัชพืช เป็นปัจจัยที่จะทำให้ผลผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะการเอาใจใส่ในการเตรียมท่อนพันธุ์ จะมีผลทำให้อัตราความอยู่รอดของมันสำปะหลังสูงขึ้น ต้องคัดเลือกใช้ต้นพันธุ์ (ท่อนพันธุ์) สมบูรณ์
นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอันดับแรก เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น ๆ เนื่องจาก มีผลต่อความงอกและจำนวนต้นอยู่รอดจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับผลผลิต รวมทั้งต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ซึ่งมีข้อแนะนำ ดังนี้
1. ต้องใช้ต้นพันธุ์ที่มีอายุ 8 – 14 เดือน โดยสังเกตได้จากสีของลำต้นที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นสีเข้ม เมื่ออายุมากขึ้น และไม่มีโรคแมลงติดมา
2. ต้องเก็บรักษาต้นพันธุ์ให้ดี หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรรีบนำต้นพันธุ์ไปปลูกทันที ถ้าจำเป็นต้องเก็บรักษาต้นไว้ทำพันธุ์ต่อไป สามารถทำได้โดย ตั้งกองพันธุ์ไว้กลางแจ้งในแนวตั้ง ให้ส่วนของโคนสัมผัสกับพื้นดิน หรือใช้ดินกลบโคน และกองไม่ใหญ่เกินไป เพื่อให้อากาศถ่ายเท ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ จะสามารถรักษาสภาพต้นได้ประมาณ 15 – 30 วัน หรือนานถึง 2 เดือน แต่ถ้าเก็บไว้นานต้นจะแห้งจากส่วนปลายลงมา และตาจะแตกทำให้ได้จำนวนท่อนที่สมบูรณ์น้อยลง
3. ต้องใช้ส่วนกลางของลำต้น ควรเป็นส่วนกลางและโคนต้นที่ไม่อ่อน หรือแก่จนเกินไป
4. ต้องตัดท่อนที่มีความยาวที่เหมาะสม ในช่วงต้นฤดูฝน ควรใช้ท่อนพันธุ์ขนาด 20 ซม. และช่วงปลายฝน ควรใช้ท่อนพันธุ์ขนาด 25 – 30 ซม. (ควรมีตาอย่างน้อยประมาณ 5 – 7 ตา) ส่วนการสับ ท่อนพันธุ์ควรสับให้เฉียงเล็กน้อย และหลีกเหลี่ยงไม่ให้ตาบนท่อนพันธุ์ช้ำ หรือถูกกระทบกระเทือน
5. วิธีการปลูกที่เหมาะสม ควรปลูกแบบปักตรงหรือเอียงเล็กน้อย เป็นวิธีที่ให้ผลผลิตสูง ความลึกในการปักท่อนพันธุ์ลงในดินประมาณ 8 – 10 ซม. แต่ไม่ควรปักลึกมาก และควรมีการตรวจสอบความงอกหลังปลูกเพื่อทำการปลูกซ่อมได้ทันเวลา
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยมงกุฎ