ค่าฝุ่นวันนี้ 16 ม.ค. 68 กรุงเทพมหานครกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่พุ่งสูงจนเข้าสู่เกณฑ์สีส้มในหลายพื้นที่ ล่าสุดมีถึง 10 เขตที่ ค่าฝุ่นทะลุเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจ ข้อมูลเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
ฝุ่น PM2.5 ในเขต กทม.พบเกินมาตรฐานระดับสีส้ม 60 พื้นที่ สูงสุดเขตหนองแขม57.1 มคก./ลบ.ม. โดยในช่วง 16-23 ม.ค.นี้ฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสลับลดลง
วันนี้ (16 ม.ค.2568) ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ตรวจวัดได้ 33.6 - 57.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม 60 พื้นที่ คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.)
สำหรับพื้นที่ กทม.พบค่าฝุ่นสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1. เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 ตรวจวัดได้ 57.1 มคก./ลบ.ม.
2. เขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย 56.9 มคก./ลบ.ม.
3. เขตธนบุรี ริมป้ายรถเมล์บริเวณแยกมไหศวรรย์ 56.3 มคก./ลบ.ม.
4. เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ 55.9 มคก./ลบ.ม.
5. เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า 53.1 มคก./ลบ.ม.
6. เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน 52.0 มคก./ลบ.ม.
7. เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม(ประมาณซอยเพชรเกษม 36) ทางเข้ามหาวิทยาลัย 52.0 มคก./ลบ.ม.
8. เขตลาดกระบัง ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบังข้างป้อมตำรวจ 51.9 มคก./ลบ.ม.
9. เขตพญาไท หน้าแฟลตทหารบกใกล้โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ตรงข้ามกระทรวงการคลัง 50.6 มคก./ลบ.ม.
10. เขตบางขุนเทียน ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน 50.2 มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 16-23 ม.ค.นี้ การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ "ไม่ดี-อ่อน-ดี" ขณะที่มีการเกิดอินเวอร์ชั่นใกล้ผิวพื้น ทำให้มลพิษทางอากาศสามารถแพร่กระจายได้อย่างจำกัด ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสลับลดลง โดยจะมีแนวโน้มลดลงในช่วง 1-2 วัน แล้วจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ไม่พบจุดความร้อนในพื้นที่ กทม.
พร้อมแนะให้ประชาชนทั่วไปใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา
ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมากและให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ แต่หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์