ทำไมเรียก "ตับหวาน" รสแซ่บจี๊ดจ๊าด จะหวานได้ไง
สงสัยกันไหม อาหารอีสานสุดฮิตจานนี้ทำไมเรียกตับหวาน ทั้งที่ทำเหมือนลาบแค่เปลี่ยนมาใช้ตับ แถมเป็นของคาวไม่ใช่ของหวานสักหน่อย
พูดถึงอาหารอีสานคู่ร้านส้มตำ นอกจากส้มตำ ลาบ ก้อย แล้วอีกหนึ่งเมนูฮิตในใจใครหลายๆคนก็ต้อยยกให้เมนูนี้เลย "ตับหวาน" แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเมนูนี้ถึงเรียกว่าตับหวาน ทั้งๆที่รสชาติของมันเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ซี๊ดซ๊าดออกไปทางลาบมากกว่าแถมเป็นเมนูอาหารคาวไม่ใช่ขนมหวานด้วย
ทำไมเรียก ตับหวาน เมนูนี้ เป็นอาหารคล้าย ๆ กับลาบสุก แต่ใช้ตับวัว หรือหมู หั่นเป็นชิ้นพอคำแล้วนำมาลวกสุก ๆ ดิบ ปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำปลาร้า มะนาว น้ำตาล และ โรย ข้าวคั่ว พริกป่น ใบสะระแหน่ ต้นหอมและหอมแดง ที่เรียกตับหวานเพราะว่าการทำตับหวานจะทำให้ตับไม่สุกมากเกินไป ให้มีความสุขประมาณ 80-90% เท่านั้น เมื่อกินเข้าไปจึงยังมีความเด้งหวานของตับสดตามธรรมชาติอยู่นั่นเอง
ตับหวานเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงมากๆถือ เป็นเมนูหลักของร้านอาหารอีสาน รู้จักกันทั่วทุกภาค เมนูจานนี้รสชาติจัดจ้านด้วยเครื่องปรุงสดใหม่ ตับหมูรวนพอสุกให้รสหวานและนุ่มลิ้น ตัดกับรสเปรี้ยวเค็มเผ็ด ของเครื่องปรุง เพิ่มรสสัมผัสด้วยข้าวคั่วหอมอร่อย
ส่วนผสม
ตับวัวหรือตับหมู 300 กรัม
พริกขี้หนูคั่วป่น 1 ช้อนโต๊ะ
ข้าวคั่วป่น 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
หัวหอมแดงซอยละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลาดี 2 ช้อนโต๊ะ
ใบสะระแหน่เด็ดเป็นใบๆ 4 ช่อ
ผักเครื่องเคียง ได้แก่ ใบโหระพา กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว
วิธีทำตับหวาน
1. ล้างตับให้สะอาด ล้างเลือดออกให้มากที่สุดแล้วแล่ตับเป็นชิ้นหนาประมาณ 1/2 ซม. นำไปลวกในน้ำเดือดให้สุกพอประมาณ แล้วพักใส่ชามผสมไว้ (ความสุกของตับแล้วแต่คนชอบ)
2. บีบมะนาวใส่ตับ คลุกเคล้าให้ทั่ว ใส่น้ำปลา หัวหอมแดงซอย พริกขี้หนูคั่วป่น ข้าวคั่วป่น
3. ชิมให้รสชาติพอดี แล้วจึงใส่ใบสะระแหน่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่จานรับประทานกับผักดิบ เช่น ใบโหระพา ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี