เคยเห็นข้อมูลเตือนภัยที่แชร์กันในโลกออนไลน์ไหม เรื่องกินเต้าหู้ถั่วเหลืองทำให้เป็นโรคพาร์กินสัน วันนี้ทางทำกินมีคำตอบยืนยันมาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบและยืนยันแล้วว่าไม่จริง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ตามที่มีบทความในประเด็นสุขภาพเรื่องกินเต้าหู้ถั่วเหลืองทำให้เป็นโรคพาร์กินสัน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีข้อความชวนเชื่อระบุว่า ผู้ที่กินเต้าหู้ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเยอะสมองจะถูกทำลาย ทำให้เป็นโรคพาร์กินสัน ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง การกินเต้าหู้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดทำให้เป็นโรคพาร์กินสัน โดยเต้าหู้นั้นทำมาจากถั่วเหลือง มีโปรตีนในปริมาณที่สูง นอกจากนี้ ในถั่วเหลืองยังพบสารกลุ่มไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ซึ่งเป็นสารที่คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วย มีส่วนช่วยลดอาการร้อนวูบวาบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้ แต่ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากกินในปริมาณที่มากไปอาจทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนเพศหญิงมากเกินความจำเป็นได้
ทั้งนี้ โรคพาร์กินสันจัดเป็นโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสมอง และระบบประสาท ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติไป มักมีอาการสั่นบริเวณนิ้ว มือ แขน หรือขา ขณะที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ได้ช้ากว่าปกติ และกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ทำให้ควบคุมการทรงตัวของร่างกายลำบาก ควบคุมกล้ามเนื้อมือและแขนไม่ได้ ทำให้เขียนหนังสือลำบาก
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่เป็นความจริง การกินเต้าหู้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดทำให้เป็นโรคพาร์กินสัน โดยเต้าหู้ถั่วเหลืองนั้นมีโปรตีนสูง ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมีส่วนช่วยลดอาการร้อนวูบวาบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข