ติดเครดิตบูโร -แบล็กลิสต์ ซื้อรถยนต์ได้ไหม ?
สำหรับที่กำลังติดปัญหาในการติดเครดิตบูโร -แบล็กลิสต์ หนี้เสียกับสถาบันการเงินจนทำให้มีประวัติเครดิตบูโรไม่ดี (หรือที่หลายคนมักเรียกว่าติดบูโร หรือติดแบล็กลิสต์) จะสามารถซื้อรถยนต์ได้ไหม ไม่ว่าจะเป็น ป้ายเเดง หรือ มือสอง วันนี้เรามีคำตอบมาครับ
ติดเครดิตบูโร - แบล็กลิสต์ ซื้อรถยนต์ได้ไหม ?
ติดแบล็กลิสต์คืออะไร?
"ติดบูโร" หรือ "ติดแบล็กลิสต์" หมายถึง การมีประวัติค้างชำระหรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินที่ส่งข้อมูลสินเชื่อของลูกหนี้ให้กับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ National Credit Bureau (NCB) ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ จะใช้ข้อมูลส่วนนี้ในการพิจารณาสินเชื่อให้กับลูกค้าแต่ละราย อันจะเห็นได้จากการที่สถาบันการเงินจะให้ลูกค้าเซ็น "แบบฟอร์มยินยอมเปิดเผยข้อมูลเครดิต" ทุกครั้งเพื่อนำข้อมูลจากเครดิตบูโรมาให้ประกอบการพิจารณา
ซึ่งโดยหากสถาบันการเงินเห็นว่าผู้ขอสินเชื่อมีประวัติค้างชำระหรือผิดนัดชำระหนี้อยู่ก่อนแล้วนั้น ก็มักจะถูกพิจารณาไม่อนุมัติสินเชื่อแทบทุกรายไป (ถึงกระนั้นก็มีบางกรณีที่ไฟแนนซ์ยอมอนุมัติ เช่น ยอดค้างสินเชื่อที่มีอยู่น้อยมาก และสามารถปลดยอดหนี้ทั้งหมดได้ทันทีก่อนพิจารณาสินเชื่อ
แล้วการปลดเเบล็กลิสต์ต้องทำอย่างไร?
โดย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด จะทำการจัดเก็บข้อมูลของลูกหนี้แต่ละรายไว้สูงสุด 3 ปี ดังนั้น หากมีการจ่ายสินเชื่อค้างชำระกับสถาบันการเงินไม่ให้มีประวัติค้างชำระแล้วล่ะก็ จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ก่อนที่ประวัติค้างชำระเดิมจะหายไปจากระบบ ซึ่งจะทำให้เครดิตของคุณกลับมาใสสะอาดและได้รับโอกาสพิจารณาอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น ทั้งนี้ก็อยู่กับเงื่อนไขของแต่ล่ะ สถาบันการเงินและธนาคารแต่ล่ะแห่งด้วย
แล้วถ้าติดแบล็กลิสต์ซื้อรถป้ายแดงได้ไหม?
การซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงนั้น หากเป็นการขอสินเชื่อเช่าซื้อแล้วล่ะก็ ส่วนใหญ่จำเป็นต้องจัดไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือระดับประเทศ มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อสูง นั่นแปลว่าโอกาสที่คนติดบูโรหรือติดแบล็กลิสต์จะได้รับการอนุมัติย่อมมีน้อยมาก ยิ่งถ้ามียอดค้างชำระอยู่เป็นจำนวนมากแล้วล่ะก็ โอกาสผ่านก็แทบจะไม่มีเลย
แล้วรถมือสองล่ะ ติดแบล็กลิสต์ซื้อได้หรือเปล่า?
เงื่อนไขการขอสินเชื่อรถมือสองมักเข้มงวดใกล้เคียงกับรถป้ายแดง แต่กระนั้น สถาบันการเงินขนาดเล็กบางแห่งอาจผ่อนปรนเงื่อนไขกรณีลูกค้าติดแบล็กลิสต์ให้ได้ โดยส่วนมากจะต้องแลกกับดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ หรือจำเป็นต้องวางเงินดาวน์จำนวนหนึ่งเสียก่อนจึงจะได้รับการอนุมัติ
นอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์การพิจารณาตามปกติแล้วนั้น ผู้ขอสินเชื่อที่ติดแบล็กลิสต์อาจจำเป็นต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมอื่นๆ อีก เช่น ต้องเป็นเจ้าของบ้านหรือที่ดิน, มีผู้ค้ำประกันที่น่าเชื่อถือเพียงพอ เป็นต้น