เผยโฉม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566

18 พฤษภาคม 2566
65

เผยโฉม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566   ต้นแบบรูปธรรมในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตร

 เผยโฉม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566

กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน  สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ปราชญ์เกษตรของแผ่นดินประจำปี 2566 สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง คือ นายเมธี บุญรักษ์ อายุ 63 ปี การศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ช่างยนต์)สถานภาพ สมรสที่อยู่ บ้านเลขที่ 98/87 บ้านซรายอ หมู่ที่ 1 ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โทรศัพท์ 087 968 2944  อาชีพเกษตรกรรม 

 เผยโฉม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566

ประสบการณ์ในการทำงานภาคการเกษตร 36 ปี
นายเมธี บุญรักษ์ มีประสบการณ์ในการทำงานภาคการเกษตร 36 ปี เป็นผู้ดำเนินชีวิตตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลา 26 ปี และสามารถเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้ 26 ปี เกษตรกรผู้มีภูมิปัญญาสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นต้นแบบรูปธรรมในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตร เป็นที่ประจักษ์ได้รับการยอมรับและนำไปเผยแพร่ สื่อสาร ขยายผลจนเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคการเกษตรไทยอย่างโดดเด่นระดับประเทศ ทั้งเป็นผู้มีชีวประวัติและวิถีชีวิตที่พอเพียง และมีคุณธรรม มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลสังคม เดิมนายเมธี บุญรักษ์ ทำงานเป็นนายช่างยนต์ที่ประเทศมาเลเซีย

เนื่องจากห่างไกลและต้องการให้เวลากับครอบครัว จึงเริ่มวางแผนทำการเกษตรในเวลาที่หยุดกลับมาพักผ่อนที่บ้าน โดยทำการเกษตรบนพื้นที่ที่เป็นมรดกของพ่อและแม่ จำนวน 10 ไร่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่มีความรู้ทางการเกษตรเพราะจบการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพสาขาช่างยนต์ ประกอบกับดินมีสภาพปนทราย จึงเดินทางไปศึกษาศาสตร์พระราชาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการพัฒนาพื้นที่ แล้วนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ ด้วยการปลูกหญ้าแฝกเพื่อปรับโครงสร้างดิน ลดการพังทลายของหน้าดิน เป็นวัสดุคลุมดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้น จนดินมีความอุดมสมบูรณ์ 

 เผยโฉม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566

ลาออกจากงานเพื่อทำเกษตรอย่างเต็มตัว
ปี 2546 จึงได้ลาออกกลับมาทำการเกษตรอย่างเต็มตัว เริ่มจากการปรับรูปแบบการผลิตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เน้นเฉพาะไม้ผล เป็นรูปแบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืน หลีกเลี่ยงการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนภายในแปลง ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิต โดยเริ่มจากการทำเกษตรธรรมชาติ วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์ ตามลำดับ จนได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ (ORGANIC THAILAND) และได้รับการรับรองการผลิตสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ลองกอง GI ตันหยงมัส เป็นการยกระดับสินค้าเกษตรอย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐานรับรองส่งผลให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้น และสามารถกำหนดราคาเองได้

 เผยโฉม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566

ทำการเกษตรตามรอยเท้าพ่อหลวง ร.9
ทำการเกษตรตามรอยเท้าพ่อหลวง ร.9 เช่น การปลูกแฝก การบริหารจัดการน้ำด้วยฝายชะลอน้ำ การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้เกษตรกรในชุมชนได้นำไปปฏิบัติจากการแนะนำ และเกิดการแลกเปลี่ยนสอบถามเรียนรู้เป็นเครือข่ายตามมา เกิดเป็นสังคมเกษตรที่มีความชอบเหมือนกันรวมเป็นกลุ่ม/เครือข่ายกันโดยยึดหลักการทำเกษตรผสมผสาน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และวนเกษตร และมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยปรับโครงสร้างบำรุงรักษาปรับสภาพดินให้สามารถกลับมาปลูกพืชได้อีกครั้ง โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่ ซึ่งมีกิจกรรมทางการเกษตรในพื้นที่ ประกอบด้วย การปลูกข้าว การปลูกพืชผักสมุนไพร (ผักเหรียง ผักหวานป่า พริกไทยดำ กระชาย ฯ) การปลูกไม้ผล (ลองกอง 500 ต้น มังคุด 180 ต้น สละอินโด 300 ต้น ฝรั่ง กาแฟ ฯ) การปลูกไม้เศรษฐกิจ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง (สะเดา ยางนา ตะเคียน พะยอม มะค่า สัก ฯ) กลางสวนมีคอกปศุสัตว์ สำหรับการเลี้ยงสัตว์ (ไก่ไข่ และเป็ดไข่) การเลี้ยงปลา (ปลาทับทิม และปลาหมอไทย) การปลูกหญ้าแฝก การทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำน้ำหมักชีวภาพ การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลที่ได้มาทำปุ๋ยหมัก การผลิตแหนแดงเพื่อเป็นอาหารไก่และเป็นปุ๋ยชีวภาพ การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีเขตกรรมและชีวภัณฑ์ (เศษผัก ไข่ไก่ และไส้เดือนฝอย) รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ (ฝายชะลอน้ำ แก้มลิง คลองไส้ไก่ คลองบายพาส ระบบแอร์แวย์เพื่อส่งน้ำในระยะไกล และระบบตะบันน้ำเพื่อส่งน้ำขึ้นที่สูง) 

ทั้งนี้ ได้รับมาตรฐานการจัดการสวนรับรองให้เป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) รักษาสิ่งแวดล้อม พึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและการอยู่ร่วมกันของพืชแบบผสมผสาน องค์ความรู้ที่โดดเด่น คือ
 การบริหารจัดการ 3 ด้าน ได้แก่ 
1) ดิน : การหาวิธีการจัดการให้มีความพร้อมที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตของพืชและให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ 
2) น้ำ : ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี มีแหล่งน้ำใช้ในการทำกิจกรรมด้านการเกษตรอย่างพอเพียง 
3) ป่าไม้ : ปลูกป่าไม้เพื่อบังแดดยึดหน้าดินสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต มีการปลูกต้นไม้ แนวผสมผสาน ตามความสูงต่างระดับ เพื่อการพึ่งพาอาศัยกัน คำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมภายในแปลง การจัดการสวนตามมาตรฐานการผลิต GAP พืช การจัดทำแนวกันชนหลายชั้นระดับตั้งแต่การขุดคันดินป้องกันน้ำจากภายนอก ปลูกหญ้าแฝกบนคันดิน ปลูกไม้พุ่มขนาดเล็กและขนาดใหญ่ 

 เผยโฉม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566
ประยุกต์และการบริหารจัดการใช้เทคโนโลยี ในการทำเกษตรอินทรีย์ 
1) การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นหลักเพื่อปฏิบัติในการอนุรักษ์ดิน น้ำ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ควบคู่กับความต้องการด้านเศรษฐกิจ 
2) การปลูกหญ้าแฝกรอบๆ โคนต้น เพื่อปรับปรุงและอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของดิน 
3) การเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมูลที่ได้มาทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ 
4) การเลี้ยงไส้เดือน และการใช้ไส้เดือนฝอยพันธุ์ไทย ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช 
5) การผลิตและการขยายแหนแดง เพื่อเป็นปุ๋ยชีวภาพ 

การขยายผลงานจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ศึกษาเรียนรู้หาข้อมูลนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่เสียสละและอุทิศเวลาส่วนตัวถ่ายทอดผลงานหรือองค์ความรู้ด้านการเกษตรในสาขาการปลูกพืชแบบผสมผสานโดยน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้สามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงและบริหารจัดการด้านการผลิตและด้านการตลาดได้เป็นอย่างดี รวมถึงการใส่ใจถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงการช่วยรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยหลักจะใช้หญ้าแฝกมาปลูกเพื่อฟื้นฟูดินและระบบนิเวศได้อย่างเป็นรูปธรรม มีเกษตรกรมากมายนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับศักยภาพพื้นที่ของตนเองในด้านการลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าของผลผลิต เช่น การแนะนำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ด้วยการใช้น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักชีวภาพ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยรักษาความชื้นไว้ในดิน การปลูกพืชแซม การทำเกษตรผสมผสานเพื่อให้เกิดความหลากหลายในด้านการผลิต รักษาความสมดุลของธรรมชาติ และลดความเสี่ยงในด้านราคา มีการรวมกลุ่มเครือข่ายหญ้าแฝก ได้สร้างผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกจักสาน เช่น หมวกหญ้าแฝก กระเป๋าหญ้าแฝก ตะกร้าหญ้าแฝก มีกลุ่มเครือข่ายการพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และระหว่างภูมิภาค 1) เครือข่ายคนรักแฝก  2) เครือข่ายหมอดินอาสา แลกเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด 3) การรวมกลุ่มของเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอสุไหงโก-ลก (ศพก.อ.สุไหงโก-ลก) เป็นวิทยากรในการอบรมถ่ายทอดความรู้ และเป็นที่ศึกษา     ดูงานให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนที่สนใจ ทั้งในประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย โดยมีเกษตรกรจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้ามาฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง นอกจากเป็นวิทยากรตามสถานที่ต่างๆ แล้วยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ ศูนย์เรียนในรูปแบบสวนป่า (กรมป่าไม้) ธนาคารต้นไม้ตำบลสุไหงโก-ลก พัฒนาจนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เครือข่าย ด้านเกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมผสาน เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงานของเกษตรกรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเกษตรกรและนักศึกษาจากประเทศมาเลเซีย เดินทางมาศึกษาดูงานในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ (ศพก.เครือข่าย.อ.สุไหงโก-ลก) เพื่อเป็นแบบอย่างการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนำกลับไปปรับใช้สู่การพึ่งพาตนเอง