เปิดสาเหตุของโรคไข้หัดแมวและวิธีป้องกัน
แมวเป็นสัตว์น่ารัก มีเสน่ห์ ฉลาด สำหรับทาสแมวทุกคนรู้ดีว่าการเลี้ยงแมวนั้นต้องระวังโรคบางชนิดที่ทำให้แมวเสียชีวิตได้เช่น โรคไข้หัดแมว เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตสูงในแต่ละปี
สาเหตุ
โรคไข้หัดแมว หรือโรคลำไส้อักเสบติดต่อในแมว เกิดจากเชื้อไวรัสพาร์โวแมว (Feline Parvovirus, FPV) เชื้อ FPV มีความคงทนที่อุณหภูมิห้อง และในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานเป็นปี สามารถทนความร้อน และความเย็นได้พอสมควร เชื้อจะถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาซักฟอกขาวความเข้มข้นร้อยละ 6
อาการ
แมวป่วยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่ลูกแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน จะแสดงอาการป่วยอย่างชัดเจน พบอัตราการเสียชีวิตในลูกแมวอายุระหว่าง 3-5 เดือนสูง อาจจะพบการเสียชีวิตเฉียบพลันในลูกแมวตั้งแต่อายุ 4 สัปดาห์จนถึง 1 ปี แมวจะแสดงอาการซึม มีไข้ เบื่ออาหาร ท้องเสียปริมาณมากและรุนแรง พบอุจจาระมีกลิ่นคาวปนเลือด ร่างกายขาดน้ำและอ่อนเพลีย
การตรวจวินิจฉัยโรค
1. การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น สัตวแพทย์จะตรวจร่างกายโดยละเอียด อาจจะพบอาการปวดท้อง ช่องท้องเกร็ง มีการขยายขนาดของต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง และมักตรวจพบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำถึงต่ำมาก (50-3,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร) บางตัวอาจจะไม่สามารถนับจำนวนเม็ดเลือดขาวได้เลย ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อไวรัสรุนแรง หากมีระดับเม็ดเลือดขาวในเลือดที่ต่ำมาก บ่งบอกได้ว่าการติดเชื้อมีความรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิต
2. การตรวจหาเชื้อไวรัส
2.1 ชุดตรวจ Testkit สำหรับการตรวจหาเชื้อหรือแอนติดเจนของเชื้อไวรัสในสิ่งส่งตรวจ สัตวแพทย์จะสวนอุจจาระเพื่อใช้ในการตรวจ (ใช้สำลีพันก้านจากชุดตรวจ testkit) โดยชุดตรวจนี้สามารถตรวจพบเชื้อได้เมื่อสัตว์เลี้ยงแสดงอาการป่วยหรือถ่ายเหลวแล้ว โดยไม่มีผลรบกวนจากการทำวัคซีน คือถ้าตรวจพบว่าผลบวกจากชุดตรวจ แสดงว่าในอุจจาระของแมวมีเชื้อพาร์โวไวรัส แปลผลได้ว่าแมวป่วยเป็นโรคไข้หัดแมว
2.2 การตรวจวิธีพิเศษ เช่น การตรวจด้วยวิธี การแยกเชื้อไวรัส การตรวจปฏิกิริยาลูกโว๋โพลีเมอเรส (Polymerase chain reaction; PCR) ส่วนมากไม่เป็นที่นิยมสำหรับการตรวจทางคลินิก
การรักษา
การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสส่วนมาก เป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ หมายถึงไม่มียาที่ใช้ในการรักษาโดยตรงควรให้สัตว์งดน้ำและอาหารในช่วงแรกของการป่วย เพื่อลดอาการอาเจียน ลดการทำงานของลำไส้ จากนั้นจึงควรให้สารน้ำและสารอาหารผ่านทางเส้นเลือด ร่วมกับการให้ยาลดอาเจียน ยาฆ่าเชื้อที่ออกฤทธิ์วงกว้าง การให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน พบว่ามีรายงานในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 6.5 เท่า และสังเกตุติดตามอาการการตอบสนองยาโดยการตรวจนับค่าเม็ดเลือดขาว ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 7-14 วัน เมื่อแมวเริ่มมีอาการดีขึ้นจึงค่อย ๆ เริ่มให้อาหารอ่อนทีละน้อย ๆ
การป้องกัน
การให้วัคซีนกับลูกแมวเมื่อมีอายุ 8-9 สัปดาห์ และควรให้ซ้ำอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4 สัปดาห์ จากนั้นแนะนำให้ฉีดในปีถัดไป และแนะนำว่าในช่วงที่ยังทำวัคซีนไม่ครบควรจะงดพาแมวออกไปนอกบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อ สำหรับการทำลายเชื้อที่ปนเปื้อนมากับสิ่งแวดล้อม ที่นอน ชาม ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฟอกขาวเจือจาง โดยหลังการรักษาจนหายแล้ว ควรแยกเลี้ยงกับแมวตัวอื่นในบ้านอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากมีโอกาสที่แมวที่หายจากโรคไข้หัดแมว จะยังสามารถแพร่เชื้อได้ และควรทำวัคซีนแมวทุกตัวภายในบ้านให้เรียบร้อยก่อนนำแมวเข้ามาอยู่ด้วยกัน