รู้จักอาการ "Computer Vision Syndrome" (CVS) เตือนคนที่ติดหน้าจอเป็นเวลานาน
แพทย์เตือนใช้อุปกรณ์ดิจิตอลทุกวัน เสี่ยงเป็น Computer Vision Syndrome (CVS) แนะให้ดูแลสุขภาพดวงตา แบ่งเวลาการใช้ให้เหมาะสม
รู้จักอาการ Computer Vision Syndrome (CVS) เตือนคนที่ติดหน้าจอเป็นเวลานาน โดย นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยุคปัจจุบันสังคมออนไลน์มีการใช้สมาร์ทโฟนในการอัปเดตข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา และต้องใช้สายตาในการจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ที่ใช้จอเป็นประจำตกอยู่ในกลุ่มอาการทางตาที่เรียกว่า computer vision syndrome แม้ว่าจะไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ก็ทำให้เกิดความไม่สบายตา และเป็นปัญหาต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้
ด้าน แพทย์หญิงกนกทิพย์ มันตโชติ นายแพทย์ชำนาญการ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะ computer vision syndrome ที่เกิดจากการใช้สายตากับหน้าจออย่างต่อเนื่อง มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน อาจทำให้ตาแห้ง ต้องใช้ความพยายามในการโฟกัสมากขึ้น จึงทำให้สายตาเมื่อยล้า
ซึ่งเราสามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภาวะ computer vision syndrome ได้ด้วย 5 วิธีการง่ายๆ ดังนี้
1. กะพริบตาบ่อยๆ การนั่งจ้องหน้าจอนาน ๆ จะทำให้อัตราการกะพริบตาลดลงจาก 20 – 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 – 8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ตาแห้ง ดังนั้นจึงควรกะพริบตาให้บ่อยๆ หรืออาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาก็ได้
2. ปรับความสว่างของหน้าจอและห้องทำงานให้เหมาะสม และปรับเพิ่มความแตกต่างของสีระหว่างตัวอักษรกับพื้นจอภาพเพื่อให้อ่านง่าย ปรับความสว่างของหน้าจอให้สบายตา
3. พักสายตาทุก ๆ ชั่วโมง โดยยึดหลัก “20 – 20 – 20” คือการละสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต ทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง จะช่วยลดอาการตาล้าได้
4. ปรับระดับการมองจอให้เหมาะสม โดยจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว และต่ำลงจากระดับสายตาประมาณ 4-5นิ้ว
5. ใส่แว่นแก้ไข หากสายตาผิดปกติ เพ่งหน้าจอนานๆ อาจทำให้ปวดตาได้
ดังนั้นจึงต้องแบ่งเวลาการใช้ให้เหมาะสม หากดวงตามีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ตรวจเช็คดวงตา เพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที