กรมวิชาการเกษตร ดันมันสำปะหลัง 6 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตสูง ดูดซับคาร์บอนได้ดี

10 มกราคม 2566
36

กรมวิชาการเกษตรชูมันสำปะหลัง 6 สายพันธุ์ พืชไร่ศักยภาพสูงดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ดี และให้ผลผลิตสูง ป้องกันกับปัญหาภาวะโลกร้อน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าบทบาทภารกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของกรมวิชาการเกษตรคือการศึกษาวิจัยชนิดพืชที่มีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการกักเก็บคาร์บอนไว้ในส่วนต่าง ๆ ของพืช  เพื่อรับมือเตรียมความพร้อมในการร่วมกันป้องกันกับปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งนอกจากพื้นที่ป่าไม้แล้วพื้นที่เพาะปลูกพืชยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญเช่นกัน

กรมวิชาการเกษตร ดันมันสำปะหลัง  6 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตสูง ดูดซับคาร์บอนได้ดี

          มันสำปะหลัง เป็นพืชไร่เศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ในปีการผลิต 2565 มีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศประมาณ 11.07 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 34.69 ล้านตัน ซึ่งพบว่าผลผลิตหัวสดมันสำปะหลังซึ่งเป็นรากสะสมอาหารจะสะสมคาร์โบไฮเดรตประมาณ 20-35% และในส่วนของลำต้นและใบยังมีการสะสมแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต ซึ่งองค์ประกอบคาร์โบไฮเดรตที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช โดยพืชจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและน้ำ มาใช้ให้เกิดการสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์ และเก็บสะสมไว้ในรูปสารประกอบคาร์บอน กรมวิชาการเกษตร ดันมันสำปะหลัง  6 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตสูง ดูดซับคาร์บอนได้ดี

ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง กรมวิชาการเกษตร  ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและประเมินศักยภาพของมันสำปะหลังในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมทั้งการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนภายในส่วนต่าง ๆ ของต้นมันสำปะหลัง จำนวน 26 สายพันธุ์/พันธุ์ พบว่าในช่วงเช้าจะมีความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในอากาศอยู่ระหว่าง 400-460 ppm แต่เมื่อสภาพอากาศมีความเข้มแสงเริ่มสูงกว่า 200 µmol PPF m-2s-1 มันสำปะหลังเริ่มมีอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิเพิ่มขึ้น (ในสภาพอากาศปกติอยู่ประมาณ 07.00 น.) และเมื่อความเข้มแสงสูงกว่า 800 µmol PPF m-2s-1 (ประมาณ 08.00 น.) จะทำให้ใบมันสำปะหลังมีอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิสูงขึ้นอย่างเด่นชัด ส่งผลให้ CO2 ในอากาศในแปลงปลูกมันสำปะหลังจะลดลงเหลือ 300-350 ppm ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันสำปะหลังสามารถดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้อย่างดี

กรมวิชาการเกษตร ดันมันสำปะหลัง  6 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตสูง ดูดซับคาร์บอนได้ดี

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  การประเมินศักยภาพของพันธุ์มันสำปะหลังในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก พบว่า มันสำปะหลังในแต่ละพันธุ์มีศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในอากาศที่แตกต่างกัน  แม้ในมันสำปะหลังพันธุ์เดียวกันแต่มีช่วงอายุการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันใบมันสำปะหลังมีศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แตกต่างกันเช่นกัน โดยเฉพาะความชื้นของดินที่เหมาะสมจะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงขึ้น ซึ่งมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกักเก็บคาร์บอนไว้ในผลผลิตได้ดี มีส่วนสำคัญต่อการให้ผลผลิตแป้งหรือผลผลิตมันแห้งเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีสูง

กรมวิชาการเกษตร ดันมันสำปะหลัง  6 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตสูง ดูดซับคาร์บอนได้ดี

จากผลงานวิจัยเมื่อใบมันสำปะหลังได้รับความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจะทำให้ใบมันสำปะหลังดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปเก็บไว้ภายในภายในช่องว่างระหว่างเซลล์ของใบได้เพิ่มขึ้น และทำให้ใบมันสำปะหลังมีอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการทดลองพันธุ์มันสำปะหลังส่วนใหญ่มีอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิสูงในช่วง 2-4 เดือนหลังปลูก โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนที่ต้นมันสำปะหลังมีจำนวนใบสมบูรณ์ต่อต้นจำนวนมาก ทำให้ช่วงการเจริญเติบโตนี้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้สูง เมื่อพิจารณาพันธุ์ที่มีศักยภาพดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใช้ความเข้มแสงในระดับต่ำและสูงได้ดี และให้ผลผลิตสูง สามารถคัดเลือกพันธุ์ได้ดังนี้ พันธุ์ระยอง 9 ระยอง 11 ระยอง 72 สายพันธุ์ CMR57-83-69 ห้วยบง 80 และพิรุณ 2 ซึ่งพันธุ์เหล่านี้จะเป็นพันธุ์ทางเลือกในการกักเก็บคาร์บอนได้สูงและทำให้การผลิตมันสำปะหลังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไปอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า  การเลือกใช้พันธุ์มันสำปะหลังและการจัดการแปลงปลูกที่เหมาะสมมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของพืช จากสรุปผลงานวิจัยของมันสำปะหลังจำนวน 26 สายพันธุ์/พันธุ์ พบว่า ผลผลิตหัวสดสามารถกักเก็บคาร์บอนเฉลี่ย 0.870 ตันคาร์บอนต่อไร่ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 3.190 ตัน CO2 ต่อไร่ ทำให้มันสำปะหลังสามารถดูดซับ CO2 ในพื้นที่ปลูกทั้งประเทศต่อปี รวมประมาณ 30.11 ล้านตัน CO2 ต่อปี หากนำส่วนต่าง ๆ ของมันสำปะหลังที่เหลือ ได้แก่ ลำต้น เหง้า ใบ และก้านใบ มาคำนวณรวมกับรากสะสมอาหาร จะทำให้มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซชนิดหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก และทำให้การผลิตมันสำปะหลังเป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศต่อไป

กรมวิชาการเกษตร ดันมันสำปะหลัง  6 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตสูง ดูดซับคาร์บอนได้ดี