วันนี้ (26 สิงหาคม 2564) นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าโรคที่มากับฤดูฝน ที่ต้องระวังในฤดูกาลนี้ คือโรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงชนิดนี้อาศัยอยู่ในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน มักกัดคนในเวลากลางวัน รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ส.ค. 64 พบผู้ป่วย 5,815 ราย มากที่สุดในภาคกลาง รองลงมา คือภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ชุมพร เชียงราย และระนอง
สำหรับกลุ่มอายุที่พบป่วยสูงสุด คืออายุ 5-14 ปี จำนวน 1,704 ราย รองลงมาคือ อายุ 15-24 ปี จำนวน 1,289 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตมีทั้งหมด 6 ราย อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี และ 65 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตในเด็ก คือ มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ส่วนในผู้สูงอายุคือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง แม้ว่าจำนวนคนป่วยจะน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 88 ก็ตาม แต่คาดว่าจะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเป็นช่วงที่ประชาชนอยู่บ้าน เพื่อลดการสัมผัสเชื้อและลดการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคเลือดออกด้วย เนื่องจากยุงลายจะมีแหล่งอาหารคือกินเลือดคนได้มากขึ้น และวางไข่แพร่พันธุ์ได้ดีขึ้น
นายแพทย์อภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน และไข้จะสูงตลอดทั้งวันประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและเบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรงอาจมีภาวะช็อคและเสียชีวิตได้
“ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยคนในบ้าน หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก็คือ การใช้ยาลดไข้ ขอให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟ่นอย่างเด็ดขาด เพราะหากป่วยเป็นไข้เลือดออกจะทำให้มีเลือดออกในอวัยวะภายในง่ายขึ้น ทำให้อาการป่วยรุนแรง” นายแพทย์อภิชาตกล่าว
สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา ขอให้ประชาชนทุกคนระวังอย่าให้ยุงกัดในช่วงกลางวัน สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาว นอนในมุ้งหรือทายากันยุง หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณมุมอับชื้น ขอให้ทุกบ้านกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกๆอาทิตย์ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ได้ผลดีที่สุด ด้วยหลักการ 3 เก็บ เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ ดังนี้
1.เก็บกวาดบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก
2.เก็บขยะ เศษภาชนะทุกชนิดบริเวณรอบบ้าน ทิ้งในถุงดำ มัดปิดปากถุงแล้วนำไปทิ้งในถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำให้ยุงวางไข่เพาะพันธุ์ได้
3.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็กๆ เช่น ถ้วยรองขาตู้ หรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ เช่น อ่างเลี้ยงไม้น้ำ เป็นต้น ยุงลายตัวเมียมีอายุประมาณ 1 เดือน วางไข่ได้ตลอดชีวิต ยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออก เมื่อวางไข่ไข่และลูกน้ำจะมีเชื้อด้วย โดยยุง 1 ตัว จะวางไข่ครั้งละประมาณ 100 ฟอง
ขอบคุณ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค