หลวงพ่อสุ่น พระเกจิดัง ต้นตำรับ หนุมานแกะ อันเลืองชื่อ
วันนี้ปาฏิหาริย์ตำนานดัง จะพาท่านผู้ชมทุกท่านไปทราบถึงประวัติเรื่องราวความเป็นมาของ หลวงพ่อสุ่น พระเกจิดัง เจ้าตำรับหนึ่งในชุดเบญจภาคี หนุมานแกะ อันเลืองชื่อ
หลวงพ่อสุ่น พระเกจิดัง เจ้าตำรับหนึ่งในชุดเบญจภาคี หนุมานแกะ อันเลืองชื่อ หลวงพ่อสุ่น จันทโชติ หรือ พระอธิการสุ่น วัดศาลากุน เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เดิมชื่อ "สุ่น" เป็นชาวเกาะเกร็ดโดยกำเนิด แต่ไม่มีการบันทึกประวัติของท่านเก็บไว้ ดูจากปีที่มรณภาพและสิริอายุ ประมาณการว่าน่าจะเกิดในราวปี พ.ศ. 2403-2404 เมื่ออุปสมบทได้ฉายา "จันทโชติ"
หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน พระเถราจารย์ผู้มีพุทธาคมเข้มขลัง พลังจิตแก่กล้า ผู้สร้างอีกหนึ่งตำนานเครื่องรางอันโด่งดังที่เล่าขานกันมายาวนาน ชุดเบญจภาคีเครื่องรางของขลังองค์สุดท้าย คือ หนุมานหลวงพ่อสุ่น อันถือเป็นต้นตำนานการสร้าง "หนุมาน" ที่ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์ สิทธิ์ มีอานุภาพคุ้มครองป้องกันภัย คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม เป็นที่ปรากฏแก่ ผู้บูชา จนได้รับสมญา "ขุนกระบี่วานร ฤทธิเกริกไกร หนึ่งในสยาม" ถึงขนาดมีคำเปรยว่า "เขี้ยวเสือ ต้องยกให้ หลวงพ่อปาน ส่วน หนุมาน ก็ต้อง หลวงพ่อสุ่น" ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันและแสวงหาอย่างสูงของบรรดานักนิยมสะสมเครื่องรางของขลัง แต่จะหาของแท้ได้ยากยิ่งนัก
ย้อนไปเมื่อครั้งยังเป็นพระลูกวัด หลวงพ่อสุ่น ปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณกุฏิ 2 ชนิด คือ "ต้นรักซ้อนและต้นพุดซ้อน" และหมั่นดูแลรดน้ำ โดยนำน้ำสะอาดมาทำเป็นน้ำมนต์เพื่อรดต้นไม้ทั้งสองทุกครั้งจนเจริญเติบโต กระทั่งเมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงเข้าใจกระจ่างว่า เหตุใดท่านจึงให้ความสนใจดูแลต้นไม้ทั้งสองนี้เป็นพิเศษ เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตได้ที่ ท่านจึงดูฤกษ์ยามทำพิธีพลีและสังเวยก่อนแล้วลงมือขุดด้วยตัวเอง
จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วให้ช่างแกะเป็นรูปหนุมาน รวบรวมห่อด้วยผ้าขาวใส่บาตรเพื่อปลุกเสกในกุฏิ จนถึงวันเสาร์ซึ่งถือว่าเป็นวันแรง ท่านก็จะเข้าไปปลุกเสกในอุโบสถ โดยจะนั่งบริกรรมบนศาสตราวุธต่างๆ ที่นำมากองรวมกัน หนุมานจะกระโดดโลดเต้นอยู่ในบาตรจนท่านเห็นว่าขึ้นแล้ว จึงเก็บไว้แจกจ่ายบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ถวายปัจจัยในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด นอกจากหนุมานแกะที่ทำจากต้นรักซ้อนและต้นพุดซ้อนแล้ว ท่านยังแกะหนุมานจาก "งาช้าง" ด้วย แต่สร้างในรุ่นหลัง ไม่ค่อยได้พบเห็นกันนัก และสนนราคาค่อนข้างสูงมาก
หนุมานแกะหลวงพ่อสุ่น แบ่งได้เป็น 2 พิมพ์ คือ
- พิมพ์หน้าโขน
- พิมพ์หน้ากระบี่
"พิมพ์หน้าโขน" นั้น เรียกกันว่า "หนุมานทรงเครื่อง" คือจะเก็บรายละเอียดต่างๆ จนครบ มีความสวยงามและแลดูเข้มขลังยิ่งนัก
ส่วน "พิมพ์หน้ากระบี่" จะเป็นแบบเรียบง่าย ไม่ค่อยมีเครื่องเครา แต่ก็คงความเข้มขลังงดงามในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมีคาถากำกับหนุมาน เริ่มด้วยตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่า "นะมัง เพลิง โมมัง ปากกระบอก ยะ มิให้ออก อุดธังโธอุด ธังอัด อะสังวิสุ โรปุสะพูพะ มะอะอุ โอมยะพุทธา ทะโยสตรี สตรี นิสังโห"
มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 โดย คณะราษฎร ซึ่งนำโดย พ.อ.พระยาพหลพลหยุหเสนา ท่านได้ไปหาหลวงพ่อสุ่น หลวงพ่อก็ให้ "หนุมานหน้าโขน" มาตัวหนึ่ง พร้อมบอกในเชิงว่า "ผ่านไปสักพักเรื่องเลวร้ายก็ผ่านไปด้วยดี" แล้วก็เป็นดังที่หลวงพ่อกล่าว กิตติศัพท์และชื่อเสียงของ "หนุมานหลวงพ่อสุ่น" จึงขจรไกลนับแต่นั้นมา
หลวงพ่อสุ่นมรณภาพ สิริอายุประมาณ 79 ปี ในวันประชุมเพลิงหลวงพ่อสุ่นเมื่อ ปี พ.ศ.2489 นั้น หลวงพ่อกลิ่นมาเป็นเจ้าภาพด้วยตัวเอง