ทำความรู้จัก เรือพระที่นั่ง 4 ลำ หนึ่งเดียวในโลก มรดกคู่แผ่นดินไทย
เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีอะไรบ้าง มาทำความรู้จักหน้าที่ของเรือพระที่นั่ง ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หนึ่งเดียวในโลก มรดกคู่แผ่นดินไทย
ทำความรู้จัก เรือพระที่นั่ง 4 ลำ หนึ่งเดียวในโลก มรดกคู่แผ่นดินไทย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีอะไรบ้าง มาทำความรู้จักหน้าที่ของเรือพระที่นั่ง ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หนึ่งเดียวในโลก มรดกคู่แผ่นดินไทย เตรียมความพร้อมงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนิน ถวายผ้าพระกฐิน 27 ต.ค. 2567 นี้
1. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หมายถึงหงส์สีทองเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นหนึ่งในเรือพระที่นั่ง และพระราชพิธี กระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นเรือที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มีชื่อกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราวปี พ.ศ. 2091
2. เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ลำปัจจุบันมีการสร้างใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำเร็จเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2457 ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 42.95 เมตร กว้าง 2.95 เมตร ลึก 0.76 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร ฝีพาย 54 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่เรือ 1 คน
โขนเรือเป็นรูปพญานาค 7 เศียร โดยปกติจะใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง หรือเรือเชิญผ้าพระกฐิน หรือประดิษฐานบุษบกสำหรับพระพุทธรูปสำคัญ นับเป็นเรือพระที่นั่งที่มีความงดงามอีกลำหนึ่ง อนึ่ง เคยมีการพิมพ์รูปเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชด้านหลังธนบัตร 20 บาท โดยจัดพิมพ์และใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ปัจจุบันเลิกพิมพ์แล้ว
3. เรือพระที่นั่ง นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่9 เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ หนึ่งในเรือพระราชพิธี ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษกแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยกองทัพเรือ ร่วมกับกรมศิลปากร ได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด
4. เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ลักษณะเด่นคือมีโขนเรือเชิดเรียว ไม่ได้สร้างเป็นรูปสัตว์ในตำนาน แต่จำหลักและปิดทองเป็นรูปนาคจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า อเนกชาติภุชงค์ (อเนก หมายถึง จำนวนมาก, ชาติภุชงค์ หมายถึง เผ่าพันธุ์นาค) เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งลำนี้ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี ในลำดับชั้นรอง ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินลำลอง ภายหลังนำเข้ากระบวนพยุหยาตราชลมารค เรียกว่า เรือพระที่นั่งรอง
สำหรับการดำเนินการในส่วนของกรมศิลปากร จะเป็นการตกแต่งรายละเอียด เช่น วาดลวดลาย ติดกระจกเกรียบกระจกสีทำจากแร่ดีบุก ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ก่อนจะมีการอัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำ เพื่อเตรียมการในส่วนของการฝึกซ้อมฝีพาย นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2567 กองทัพเรือ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญเรือพระที่นั่ง จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จัดแสดงแบบผูกทุ่น ประกอบกาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมทั้งจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ในส่วนการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ใช้เรือพระราชพิธี จำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น 2,200 นาย และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กำหนดจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567