วันสารทไทย 2567 ตรงกับวันไหน ทำอะไรบ้าง
วันสารทไทย 2567 หรือเรียกว่า วันสารทเดือนสิบ ประเพณีเก่าแก่ที่ยังมีในปัจจุบัน ตรงกับวันไหน ทำอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
"วันสารทไทย2567" หรือเรียกอีกชื่อว่า "วันสารทเดือนสิบ" ในปีนี้จะตรงกับวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2567 เป็นเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือนสิบ หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั่นเองค่ะ
ต้นกำเนิดของสารทไทย
ในประเทศไทย การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สาเหตุที่ต้องมีการจัดพิธีสารทไทยขึ้น เพื่อจุดมุ่งหมายต่อไปนี้
- เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข
- ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกัน
- เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่
- เป็นการกระทำจิตใจของตนเองให้สะอาดหมดจด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้
- เป็นการบำรุง หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
- เป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้ ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
กิจกรรมในวันสารทไทย
ประเพณีสารท คนไทยนิยมทำอะไร กิจกรรมหลัก ๆ ของวันสารทไทย คือ การนำข้าวปลาอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือ ขนมกระยาสารท ไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ตักบาตรน้ำผึ้ง ที่มีเฉพาะชาวไทยมอญ การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยนั้น มีความเชื่อว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีการฟังธรรมเทศนา ถือศีล ปล่อยนกปล่อยปลา
ประเพณีสารทไทยในภาคต่าง ๆ
การทำบุญวันสารทนี้มีในหลายภูมิภาค โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้
ภาคกลาง เรียกว่า "สารทไทย"
ภาคเหนือ เรียก "งานทานสลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก"
ภาคอีสาน เรียก "ทำบุญข้าวสาก"
ภาคใต้ เรียก "งานบุญเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต"