13 มิ.ย. ครบรอบวันเสียชีวิต ของ ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ศิลปินนักร้องในดวงใจของใครหลายคน ได้ ครบรอบการจากไปครบ 31 ปี แล้ว ในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 นี้ โดยทางครอบครัวจะมีการจัดงานรำลึกบ้านเกิด ที่วัดทับกระดาน ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และ วัดภาษี เอกมัย 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับทุกๆปี
ประวัติ พุ่มพวง ดวงจันทร์
พุ่มพวง ดวงจันทร์ เกิด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 เมื่ออายุได้ 15 ปี พุ่มพวงร้องเพลง “สาวสวนแตง” ของผ่องศรี วรนุช และชนะเลิศนักร้องฝ่ายหญิงที่งานวัดท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี รำพึง จิตรหาญ-พ่อของพุ่มพวง จึงพาเธอไปฝากเป็น “หางเครื่อง” ในวงดนตรีของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ที่มาทำแสดงที่วัดท่ามะกาในเวลานั้น
ระหว่างที่อยู่วงดนตรีของไวพจน์ พุ่มพวงทดลองร้องเพลงหน้าเวที ครั้งแรกในงานประจำปี ที่ตลาดลำนารายณ์ อำเภอไชยบาดาลจังหวัดลพบุรี ต่อมาไวพจน์แต่งเพลง “แก้วรอพี่” ให้พุ่มพวงร้องบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ” และที่นี้อีกเช่นกันที่พุ่มพวงได้พบรักกับ ธีระพล แสนสุข-สามีคนแรกซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ในวง
ต่อมา รุ่ง โพธาราม-นักร้องรุ่นพี่ชักชวนให้แยกมาตั้งวงดนตรีเอง ด้วยการสนับสนุนของมนต์ เมืองเหนือ และมีการเปลี่ยนชื่อจาก น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เป็น “พุ่มพวง ดวงจันทร์” แต่กิจการวงดนตรีไม่ประสบความสำเร็จและต้องเลิกไปในที่สุด แต่พุ่มพวงไม่ถอดใจ เธอตั้งวงดนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ขาดทุนจนเลิกกิจการไป พุ่มพวงจึงหันมาเป็นนักร้องประจำวงของ ศรเพชร ศรสุพรรณ และขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด
พุ่มพวง เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเมื่อไปทำงานกับบริษัท เสกสรรค์ จำกัด ของประจวบ จำปาทอง แต่ที่เรียกว่า “โด่งดัง” คือ พ.ศ. 2525 เมื่อมาอยู่บริษัท อโซน่าโปรโมชั่น โดยมี ลพ บุรีรัตน์ (ชื่อจริง วิเชียร คำเจริญ) ครูเพลงชื่อดังแต่งเพลงให้, ประยงค์ ชื่นเย็น และอเนก รุ่งเรือง เรียบเรียงดนตรี ทำให้เพลง สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, กระแซะเข้ามาซิ, อื้อหือ…หล่อจัง, ห่างหน่อยถอยนิด ฯลฯ ดังระเบิดไปทั่วประเทศ
เพลงที่พุ่มพวงร้อง, ครูลพแต่ง, ประยงค์/อเนกเรียบเรียง เพลงไหนเพลงนั้น “ดัง” ติดหูคนฟังหมด ผลงานของทั้งสามคนจึงทยอยออกมาอีกมากมาย เช่น ตั๊กแตนผูกโบว์, เงินน่ะมีไหม, ขอให้รวย, หนูไม่รู้, คนดังลืมหลังควาย ฯลฯ
จังหวะนี้เองพุ่มพวง ตั้งวงดนตรี พุ่มพวง ดวงจันทร์ อีกครั้ง คราวนี้เธอประสบความสำเร็จทางธุรกิจเพลงและวงดนตรี ทุกอย่างไปด้วย ยกเว้นชีวิตครอบครัว ประมาณปี 2526 พุ่มพวงตัดสินใจแยกทางกับ ธีระพล แสนสุข ในปีเดียวกันนี้เองที่พุ่มพวงเริ่มอาชีพ “นักแสดง” ผลงานเรื่องแรกชองเธอคือ “สงครามเพลง” ของฉลอง ภักดีวิจิตร มีเพลงประกอบชื่อ “ดาวเรืองราวโรย” ที่ลพ บุรีรัตน์เป็นผู้แต่งให้พุ่มพวงร้องในเรื่อง
หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเรื่อง เช่น ผ่าโลกบันเทิง (พ.ศ. 2526), สาวนาสั่งแฟน (พ.ศ. 2527), มนต์รักนักเพลง (พ.ศ. 2528), อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง (พ.ศ. 2528) ฯลฯ การเข้าวงการแสดงทำให้พุ่มพวงได้พบกับ “ไกรสร แสงอนันต์” สามีคนที่ 2 (ที่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือ ชื่อ “น้องเพชร”) ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้พุ่มพวง เขาได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพุ่มพวง ด้วยการนำวงดนตรีของพุ่มพวง เปิดคอนเสิร์ตการกุศลหน้าพระพักตร์พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี เมื่อปี 2529 ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการลูกทุ่งไทย
พุ่มพวง ยังเป็นนักร้องลุกทุ่งหญิงคนเดียว ที่เดินทางไปเปิดการแสดงที่สหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของแฟนเพลงแดนไกลบ่อยที่สุด สถิติจากร้านจำหน่ายเพลงของคนไทยในลอสแองเจลิส ปี 2533-34 แจ้งว่ามียอดจำหน่ายสูงสุดถึง 1 ล้านตลับ
ขณะที่พุ่มพวงกำลังโด่งดังเรื่องการงาน สุขภาพเธอกลับย่ำแย่
มีนาคม พ.ศ. 2534 พุ่มพวงป่วยเป็นโรคไต อาการรุนแรงจนต้องส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ต่อมามีการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ตรวจพบว่า พุ่มพวงป่วยเป็นโรค “เอสแอลดี” หรือโรคลูปัส
โรคเอสแอลอี เป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทําให้ร่างกายสร้างสารโปรตีนชนิดหนึ่งต่อต้านเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายตนเองและเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เป็นพิษต่ออวัยวะขึ้น (แพ้ภูมิตนเอง) ทําให้มีอาการและอาการแสดงได้กับทุกระบบในร่างกาย
วันที่ 13 มิถุนายน 2535 พุ่มพวงที่มีอาการป่วยเรื้อรังและญาติๆ เดินทางไปนมัสการพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก พุ่มพวงเกิดหมดสติกะทันหันจนต้องนำส่งโรงพยาบาล แต่อาการก็ไม่ดีขึ้นสุดท้ายเธอก็เสียชีวิตลงในค่ำคืนนั้น
งานศพของพุ่มพวง จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีแฟนเพลงนับแสนเดินทางจากทั่วประเทศมาอำลานักร้องในดวงใจของพวกเขา ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ คงเหลือแต่ผลงานเพลงของเธอที่ฝากไว้ให้แฟนๆ
เลขเด็ดพุ่มพวง 16 6 66 ได้แก่
ข้อมูลจาก :
1. ฉกาจ ราชบุรี. ประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่งไทย พ.ศ. 2507-2535, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2537
2. ภัทราภรณ์ จันทนะสุต. พุ่มพวง ดวงจันทร์: จุดพลิกผันของเพลงลูกทุ่งไทย, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ดนตรีชาติพันธุ์วิทยา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2549
3. สัญญา ชีวะประเสริฐ. “พุ่มพวง ดวงจันทร์ ปรากฏการณ์ของเพลงลูกทุ่ง”, วารสารภาษาและวัฒนธรรมปีที่ 36 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2560) มหาวิทยาลัยมหิดล
4. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขอขอบคุณ : petch_poompuang